ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นที่รู้กันว่าปัญหาของ “ระบบสุขภาพ” เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสหรัฐอเมริกามาช้านาน ส่งผลให้ค่ายาและค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศนี้ “แพง” ที่สุดในโลก ประชากรสหรัฐฯ จำเป็นต้องจ่ายเงินปีละมหาศาลเข้าสู่ระบบ “ประกันสุขภาพ” ส่วนบุคคลเพื่อรักษาตัว

แม้ลูกจ้างประจำที่อยู่ในสถานะ “เป็นทางการ” จะได้รับการดูแลด้านสุขภาพจากนายจ้าง แต่แรงงานนอกระบบ ก็ยังคงต้องดิ้นรนซื้อประกันสุขภาพราคาแพงด้วยตัวเอง

แม้จะมีระบบอย่าง Medicare และ Medicaid ซึ่งเป็นสวัสดิการจากรัฐบาลกลาง และรัฐบาลของแต่ละมลรัฐฯ รวมถึงนโยบายเกิดใหม่อย่าง Affordable Care Act หรือโอบามาแคร์ ที่ขยายการครอบคลุม Medicare ให้กว้างขึ้น

หากแต่ก็มีประชากรอีกหลายสิบล้านคนที่เข้าไม่ถึงระบบเหล่านี้ การมีผู้จ่ายเงินที่หลากหลายและการมีเจ้าของนโยบายที่แยกเป็นส่วนๆ ทำให้อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมโรงพยาบาล และอุตสาหกรรมประกันสุขภาพเจ้าต่างๆ นั้น มีอำนาจต่อรองอยู่เหนือนโยบายข้างต้นนี้

นั่นทำให้สหรัฐฯ ไม่เคยปฏิรูประบบสุขภาพของตัวเองได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงการ “ควบคุมราคา” ค่ารักษา และราคายา หรือการสร้างระบบ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เหมือนประเทศที่เจริญแล้วอื่น

ล่าสุด พอล ครุกแมน ศาสตราจารย์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ชาวสหรัฐฯ เขียนบทความลงเว็บไซต์ Masterclass วิเคราะห์ปัญหาของระบบประกันสุขภาพในสหรัฐฯ ว่าปัญหาขณะนี้คืออะไร และทางออกควรจะอยู่ตรงไหน รวมถึงอะไรทำให้สหรัฐฯ ยังไปไม่ถึงฝั่งฝันในแง่ของการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเสียที

ครุกแมน วิเคราะห์ปัญหาของระบบสุขภาพสหรัฐฯ ขณะนี้ 3 ข้อ อย่างแรกคือ ระบบ “ประกันสุขภาพเอกชน” กำลังจะล่มสลาย สาเหตุสำคัญคือประมาณ 5% ของผู้ที่ซื้อประกัน นั้นจ่ายเงินเพื่ออุดหนุน 50% ของค่ารักษาพยาบาลในระบบประกันสุขภาพเอกชนขณะนี้

ปัญหาคือระบบประกันของเอกชนนั้นเริ่มหาสมดุลไม่ได้ หากปล่อยให้เบี้ยประกันสูงเกินไป คนจะแคนเซิลแผนประกันมากขึ้นเรื่อยๆ และหากปล่อยให้ราคาต่ำเกินไป เบี้ยประกันที่ได้ก็ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจริงอยู่ดี

เพราะฉะนั้น “ครุกแมน” วิเคราะห์ว่าด้วยราคาที่สูงเกินไปขณะนี้ จะเหลือแต่คนที่ “ป่วย” ที่ยินดีจะซื้อระบบประกันสุขภาพของเอกชน และสร้างปัญหาเรื้อรังตามมา

อย่างที่สองคือ เกิดความไม่สมดุลด้าน “ข้อมูล” ของสุขภาพ ปัจจุบันลูกค้ารู้เรื่องสุขภาพตัวเองดีกว่าบริษัทประกันสุขภาพ ซึ่งทำให้ลูกค้าสามารถโกหกข้อมูลตัวเองได้ว่าตัวเองสุขภาพดีกว่าที่บริษัทประกันรู้ สิ่งที่ตามมาก็คือบริษัทประกันต้องหา “นักสืบสวน” ลงไปตรวจสอบข้อมูลของลูกค้าและผู้ที่จะเป็นลูกค้าในอนาคตอย่างละเอียดขึ้นก่อนที่พวกเขาจะซื้อประกัน รวมถึงตรวจสอบว่าข้อมูลของลูกค้าที่กรอกในกรมธรรม์นั้นถูกต้องหรือไม่

ครุกแมนอธิบายว่า การแข่งขันทั้งในแง่การปกปิดและการ “แหก” ลูกค้า ย่อมไม่เป็นผลดีต่อระบบ และย่อมส่งผลต่อความโกรธเคืองกันของทั้งสองฝ่าย

ปัญหาอย่างสุดท้ายคือ ภาวะอันตรายทางศีลธรรม (Moral Hazard) กล่าวคือ ทั้งฝั่งแพทย์ และฝั่งลูกค้า เมื่อเห็นว่ามีประกันครอบคลุมค่ารักษา ย่อมต้องการการรักษาในแบบที่ “ตรงใจ” ตัวเอง และแบบที่ “แพง” ที่สุดเพื่อให้คุ้มค่าเบี้ยประกัน แม้ว่าการรักษานั้นจะไม่ใช่การรักษาที่ดีที่สุดหรือได้ผลที่สุดก็ตาม เหตุผลนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ค่ารักษาในสหรัฐฯ แพงขึ้นกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ทั่วโลก

แล้วครุกแมนเสนอวิธีแก้อย่างไร? เขาเสนอทางเลือก 3 ทางเช่นกัน หนึ่งคือ ปฏิรูปเรื่อง “การแพทย์” ทั้งหมด ให้ไปในแนวทาง “สังคมนิยม” หรือ Socialized Medicine ในแง่นี้โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศจะอยู่ภายใต้ “รัฐบาล”

เช่นเดียวกับแพทย์และพยาบาลก็จะถูกเปลี่ยนสถานะเป็น “พนักงานของรัฐ” คล้ายคลึงกับระบบสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ (NHS หรือ National Health Service) ซึ่งเป็นบทพิสูจน์แล้วว่า ระบบนี้เป็นระบบที่ควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แต่ทั้งหมอและคนไข้จะมี “ทางเลือก” ที่น้อยลงในการรักษาด้านต่างๆ

ข้อสองคือต้องมี “ผู้ซื้อ” รายเดียว หรือ Single Payer คล้ายกับในแคนาดา โดยมีรัฐบาลกลางเป็นคนคุมระบบ “ประกันสุขภาพ” ทั้งระบบสำหรับประชากรทุกคน ด้วยระบบนี้ หมอ และโรงพยาบาล อาจยังอยู่ภายใต้ “เอกชน” หรือ “มูลนิธิ” โดยให้รัฐเป็นผู้ซื้อบริการ

ข้อดีก็คือ คนไข้ และหมอ จะมีทางเลือกในการรักษามากขึ้น และโรงพยาบาล ก็จะสามารถจัดสรรแพคเกจที่หลากหลายมากขึ้นในการรักษาคนไข้ แต่ข้อเสียก็คือระบบนี้ย่อมแพงกว่าการทำให้โรงพยาบาล - หมอ และ พยาบาล อยู่ภายใต้รัฐ

ข้อสุดท้ายประกันสุขภาพเอกชน - ด้วยระบบนี้ จะอนุญาตให้มีประกันสุขภาพของเอกชนต่อไป แต่รัฐจะต้องเข้ามาควบคุมหนักขึ้น และต้องกำหนดให้ประชากรทุกคน “ต้อง” ซื้อประกันสุขภาพเหล่านี้

ยกตัวอย่างเช่น ในสวิตเซอร์แลนด์ มีการควบคุมประกันสุขภาพเอกชนอย่างเข้มข้น หรือในอเมริกา ก็มีความพยายามบังคับผ่านกฎหมายอย่าง “โอบามาแคร์” โดยรัฐบาลจะช่วยคนที่มีรายได้น้อยออกค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อประกัน

แต่ปัญหาก็คือ ระบบนี้เป็นระบบที่มีราคาแพงมาก และเมื่อรัฐบาลไม่กล้าเข้าไปยุ่มย่ามกับประกันเอกชนมากนัก ก็ทำให้ราคายา-เวชภัณฑ์ และบริการสาธารณสุข แพงทะลุเพดานเช่นกัน

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้นี้ มองว่าปัญหาใหญ่ที่ทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่การทำ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ได้ ก็คือ “ความกลัว” การเปลี่ยนแปลง

ปัจจุบัน คนอเมริกันชนชั้นกลาง–ชนชั้นสูง ต่างก็มีประกันเอกชนที่ “นายจ้าง” ทำให้อยู่แล้ว ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ต่ำกว่าเส้นความยากจน ก็ยังขอใช้ระบบ Medicaid ได้ นั่นทำให้หลายคนวิตกว่า หากเปลี่ยนเป็นระบบหลักประกันสุขภาพแบบรัฐบาลควบคุม มีผู้จ่ายรายเดียว อาจส่งผลเสียต่อสวัสดิการที่พวกเขาเคยได้เดิม และคุณภาพการให้บริการอาจลดลง

เพราะฉะนั้น เขาทิ้งท้ายไว้ 2 ข้อในการ “ปฏิรูป” ไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐฯ

1. อย่าปล่อยสิ่งที่ “ดีที่สุด” มาเป็นศัตรูกับสิ่งที่ “ดีอยู่แล้ว” (Don’t let the Best be the enemy of the good) เพราะการเปลี่ยนแปลงแม้จะเล็กน้อย แต่ก็สามารถเปลี่ยนชีวิตผู้คนได้อีกหลายล้านคน และ 2. ต้องมีความหวัง - เพราะทั่วโลกได้ทำให้เห็นแล้วว่ามีระบบสุขภาพที่ดีกว่าสหรัฐฯ มากมาย และนั่นก็เป็นประจักษ์พยานว่าระบบสุขภาพของสหรัฐฯ สามารถทำให้ “ดีกว่านี้” ได้

การปฏิรูประบบประกันสุขภาพ เป็นหนึ่งในศูนย์กลางนโยบายของ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งต้องลุ้นกันต่อว่าจะ “เขยื้อนภูเขา” พาสหรัฐฯ ออกจากหล่ม และมายาคติเดิม ไปสู่ระบบสุขภาพที่มีมาตรฐาน และราคาถูกลง ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ อย่างที่ครุกแมนหวังไว้หรือไม่