ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นโต้วาทีขนาดย่อมที่ถกเถียงกันด้วยความเห็นต่าง แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกันที่อยากให้เกิดสิทธิประโยชน์สูงสุดในการรักษาบริการแก่ประชาชน เวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไป หรือประชาพิจารณ์หลักประกันสุขภาพ ปี 59 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. จึงคึกคัก และเต็มไปด้วยข้อเสนอแนะจากคนทุกกลุ่ม ทั้งผู้รับบริการ และผู้ให้บริการ สมาชิกนับพันคนเดินทางมาจาก 13 เขตทั่วประเทศ สมัครใจเข้าร่วมเสนอแนวคิดได้ตามห้องที่สนใจ

เพื่อให้ง่ายต่อการพูดคุย สปสช. ยังแบ่งห้องประชุม เป็น 6 ห้อง 6 ประเด็นใหญ่ คือ

1.ประเภทและขอบเขตบริการและมาตรฐานบริการสาธารณสุข

2.ด้านการบริหารจัดการสำนักงาน

3.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

4.ด้านการบริหารจัดการกองทุนในระดับท้องถิ่น

5.ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และการรับรู้ คุ้มครองสิทธิ

และห้องท้ายสุด ที่หลายคนสนใจมาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง นั่นคือ ห้องการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545  

ประกิจ โพธิอาศน์ หัวหน้ากลุ่มงานประกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เลือกแลกเปลี่ยนความเห็นประเด็นการบริหารจัดการกองทุน ที่สนใจเป็นพิเศษคือ กรณีงบค่าเสื่อม และการเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้ care giver เพราะพบปัญหาใกล้ตัวในชุมชนที่อาสาสมัครในท้องถิ่นขาดแรงจูงใจเพราะติดขัดด้านการเบิกจ่ายค่าตอบแทน

นายประกิจยังลงความเห็นว่าถึงเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สอดคล้องกับความเห็นของท่านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ที่ตีความว่าประชาชนจะมีสุขภาพดีได้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องมีความสุขด้วย นายประกิจรู้สึกดีที่มีการจัดประชาพิจารณ์เป็นประจำ  เพราะข้อเสนอต่างๆ มาจากทั้งผู้ให้และผู้รับบริการตัวจริง เขาเชื่อว่าอย่างน้อยวันนี้จะได้ร่วมปลดล็อคในหลายๆ เรื่องที่แลกเปลี่ยนกัน             

ด้านผู้ให้บริการอีกคนที่ร่วมเดินทางมาประชุมทุกครั้งที่มีโอกาส นางเตือนใจ สมานมิตร ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เขต 4 สระบุรี เล่าว่า อยากมีส่วนพัฒนาสาธารณสุขไปด้วยกัน ปีนี้นำเรื่องในพื้นที่มาบอกต่อ ทั้งการขาดหน่วยบริการใหญ่ๆ ในหลายชุมชน ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งและโรคหัวใจ ถูกส่งต่อไปรักษานอกพื้นที่ โดยเฉพาะเขตอุตสาหกรรมที่มีประชากรกระจุกตัว จนเกิดปัญหาผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา ชวนให้ผู้ร่วมประชุมห้องย่อยที่ 1 ในหัวข้อ ขอบเขตบริการ และมาตรฐานบริการสาธารณสุข ร่วมกันหารืออย่างออกรส รวมไปถึงการเสนอล่ามแปล ที่จะช่วยเป็นสื่อกลางยามต้องลงพื้นที่รักษาประชาชนแนวชายขอบ

พร้อมทั้งยังอยากให้เพิ่มปริมาณหน่วยบริการเคลื่อนที่ให้มากขึ้นเพื่อเข้าถึงประชาชนที่เจ็บป่วยอย่างรวดเร็ว หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่อาสาสมัครเองที่ได้รับสิทธิให้ตรวจสุขภาพทุกๆ10 ปี ที่สมาชิกร่วมประชุมเสนอเปลี่ยนเป็นปีละครั้ง เพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพที่ดี เป็นกำลังใจให้พร้อมดูแลผู้อื่นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

นี่เป็นเพียงข้อเสนอส่วนหนึ่ง จากเสียงนับพัน ที่มาร่วมคิดร่วมประชาพิจารณ์ นอกจากจะได้เห็นทางออกในหลายประเด็น ยังมีความเห็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมขึ้นใหม่ และเพื่อให้ทุกเสียงได้รับฟังอย่างทั่วถึง จึงมีการส่งตัวแทนของทั้ง 6 กลุ่ม ขึ้นเวทีเพื่อสรุปใจความสำคัญ ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ เพราะหลายเรื่องได้ตกผลึกรอการเปลี่ยนแปลง และทุกหัวข้อได้สะท้อนถึงระดับประเทศ

เมื่อศาสตราจารย์คลีนิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนายแพทย์จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องในระบบงาน ได้ร่วมรับมอบความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อส่งต่อไปยัง บอร์ด สปสช. นำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

เวทีสำคัญนี้จัดขึ้นตาม  พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 18 (13) ที่กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) รับฟังความคิดเห็นทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นประจำทุกปี หวังนำความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาพัฒนา ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งผู้ให้ และผู้รับบริการ รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เวทีสร้างสรรค์ที่ถกกันเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนอย่างแท้จริง จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2546 ผลสำเร็จเกินคาดเพราะก่อให้เกิดการพัฒนาระบบ เป็นกระบวนการสร้างความเข้าใจชั้นเยี่ยม ไม่ได้มีแค่เวทีประดับประเทศเท่านั้น เพราะเปิดกว้างรับฟังตั้งแต่เวทีย่อยระดับชุมชน เขต อำเภอ จังหวัด นำเสียงของเวทีเล็กๆ ที่มีความหมาย มารวบรวมเพื่อนำเสนอบนเวทีใหญ่ระดับประเทศอย่างที่เป็นมา

และเช่นเคย วันนี้อาจเต็มไปด้วยเสียงแห่งความคาดหวัง ข้อเสนอแนะ หรือข้อถกเถียง แต่ทั้งหมดจะนำไปสู่การพัฒนางานหลักประกันสุขภาพอย่างสร้างสรรค์ และเท่าทันในสิ่งใหม่ 

ที่มา: ประกิจ โพธิอาศน์, เตือนใจ สมานมิตร, ปิยะสกล สกลสัตยาทร, จรัล ตฤณวุฒิพงษ์