ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสุขภาพแห่งบริษัทโรชเสนอ นานาประเทศเร่งทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยสร้างระบบการเงินการคลังที่ยั่งยืน เพิ่มเม็ดเงินลงทุนจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เสริมกำลังบริการแพทย์ปฐมภูมิและแลบตรวจโรค

เมื่อเร็วๆนี้ โจแอนนา ซิกเกลอร์ (Joanna Sickler) หัวหน้าฝ่ายนโยบายสุขภาพ และทามารา ชูเดล (Tamara Schudel) หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศ ประจำบริษัทโรช (Roche) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาและอุปกรณ์การแพทย์รายใหญ่ของโลก 

ได้เขียนบทความลงสื่อสัญชาติอเมริกัน The Politico เรียกร้องให้นานาประเทศเร่งทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชากรในประเทศ เพราะความก้าวหน้าในการทำหลักประกันสุขภาพดูจะไม่ก้าวหน้าไปไหน 

ตั้งแต่ปี  2558 เป็นต้นมา ประเทศส่วนมากมีระบบสุขภาพที่แย่ลง หรือไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ ขณะที่การขยายบริการด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรังไร้ความก้าวหน้าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งๆที่มันเป็นต้นเหตุของ 74% ของการเสียชีวิตทั่วโลก 

รายงานติดตามความก้าวหน้าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลกปี 2566 ระบุว่ายังมีประชากรโลกเกินครึ่งที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ทั้งยังมีประชากรอีก 2,000 ล้านคนที่ประสบปัญหาทางการเงินเพราะต้องจ่ายค่าบริการหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพด้วยตัวเอง

นั่นพอทำให้เห็นเค้าลางที่นานาประเทศจะไม่สามารถทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จภายในปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน 

อย่างไรก็ดี ซิกเกลอร์และซูเดลเชื่อว่ายังพอมีหวัง พร้อมเสนอแนวทางการเร่งทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 4 ข้อ ได้แก่

1. สร้างระบบการเงินการคลังที่ยั่งยืน

ไม่สามารถปฎิเสธได้ว่าการบรรลุเป้าหมายสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้องขับเคลื่อนด้วยเม็ดเงินการลงทุน โดยเฉพาะเมื่อหลายประเทศยังมีอัตราส่วนการลงทุนในระบบสุขภาพน้อยกว่า 5% ของจีดีพี

นอกจากนี้ ข้อมูลยังชี้ว่าประมาณ 20-40% การใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขทั่วโลกขาดประสิทธิภาพ สะท้อนปัญหาการสูญเสียเม็ดเงินโดยไม่จำเป็น

ซิกเกลอร์และซูเดลจึงเสนอให้นานาชาติเพิ่มการลงทุนในระบบสุขภาพ ยกตัวอย่างเช่นประเทศรวันดาที่ทำโครงการทำกองทุนประกันสุขภาพชุมชน ซึ่งสมาชิกชุมชนร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนตามสัดส่วนรายได้ และรับสิทธิประโยชน์บริการสุขภาพหลายประเภท รัฐบาลยังสนับสนุนงบดูแลสุขภาพประชากรกลุ่มยากจนอีกด้วย

2. เน้นย้ำความสำคัญของกองทุนด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

แม้โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุการเสียชีวิต 2 ใน 3 ของโลก แต่มีเม็ดเงินเพียง 1.8% ของกองทุนสุขภาพที่สนับสนุนการทำงานป้องกันและรักษาโรคนี้ ที่เหลือเน้นไปที่การจัดการโรคติดต่อ

ซิกเกลอร์และซูเดลให้ความเห็นว่า การลงทุนด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจะสร้างผลตอบแทนคืนสังคมอย่างคุ้มค่าในระยะยาว โดยเฉพาะการทำให้ประชากรมีวิถีชีวิตที่นำไปสู่สุขภาพดี โดยอ้างอิงงานวิจัยหนึ่งซึ่งชี้ว่า หากลงทุน 1 ดอลลาร์ในการป้องกันโรคแล้ว จะสามารถให้ผลตอบแทนคืนสู่สังคมที่ 2-4 ดอลลาร์  

ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีมีแนวโน้มเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกมากกว่าคนทั่วไป 6 เท่า การลงทุนด้านสุขภาพจึงไม่สามารถเน้นแต่การรักษาเพื่อต้านเชื้อเอชไอวีเท่านั้น แต่ต้องป้องกันแนวโน้มการเกิดมะเร็งปากมดลูกด้วย และเพิ่มการเข้าถึงการคัดกรองโรคให้มากที่สุด

3. ยกระดับบริการแพทย์ปฐมภูมิ และมีแลบตรวจโรคที่เข้มแข็ง

องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่า 90% ของบริการส่งเสริมและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถทำผ่านบริการแพทย์ปฐมภูมิ ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองโรค การตรวจวินิจฉัยโรคแต่เนิ่นๆ หรือการวางมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย 

คุณูปการของบริการแพทย์ปฐมภูมิเห็นได้ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งการป้องกันโรคจะเกิดประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีการคัดกรองโรคที่ทันเวลา คาดการณ์ว่าหากจัดบริการแพทย์ปฐมภูมิแล้ว จะสามารถลดการเสียชีวิตในประเทศรายได้น้อยถึงปานกลางได้มากกว่า 60 ล้านคนภายในปี 2573 

อย่างไรก็ดี การจัดระบบคัดกรองโรคจะเกิดประสิทธิภาพ เมื่อมีเครือข่ายแลบตรวจโรคที่เข้มแข็ง การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแลบจึงต้องเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและความแม่นยำในการตรวจโรค 

ตัวอย่างมีให้เห็นประเทศเปรู ซึ่งมีโครงการเก็บตัวอย่างจากกลุ่มผู้หญิงในชุมชนชนบท และส่งไปยังแลบในเมือง ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้เข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคที่มีมาตรฐานระดับโลก 

4. เสริมความร่วมมือข้ามภาคส่วน

ซิกเกลอร์และซูเดลให้ความเห็นว่า การทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่สามารถสำเร็จได้ หากปล่อยให้ประเทศได้ประเทศหนึ่ง หรือผู้มีส่วนเสียกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทำกันเอง 

การสร้างความร่วมมือข้ามภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล บริษัทเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้ป่วย มีประโยชน์อย่างมากในการแลกเปลี่ยนทรัพยากร และหาแนวทางการจัดบริการที่หลากหลาย บริษัทโรชเองก็มีส่วนร่วมด้วยการเพิ่มการเข้าถึงยาและเทคโนโลยีการตรวจโรคเช่นกัน 

ซิกเกลอร์และซูเดลเสนอว่า การประชุมกลุ่มประเทศจี 7 และจี 20 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอิตาลีและบราซิลตามลำดับ ต้องเน้นย้ำเป้าหมายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  และต้องเล็งเห็นความจำเป็นของการลงทุนด้านจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

เพราะยังมีประชากรในโลกมากถึง 4,500 ล้านคนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ และไม่ควรปล่อยให้พวกเขารอนานเกินไป

อ่านข่าวต้นฉบับ:
https://www.politico.eu/sponsored-content/how-the-world-gets-universal-health-coverage-back-on-track/