ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปิดฉากการประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันอ่านแถลงการณ์ 12 ข้อ ‘Call to Action’ ลงมือทำทันที วางเป้ามุ่งยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศอย่างไม่หยุดยั้ง 


วันที่ 13 ธ.ค. 2566 ในการประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย พ.ศ. 2566 (National UHC Conference 2023) ตัวแทนจากหลายหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับและขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ร่วมกันอ่านถ้อยแถลงการณ์ ‘Call To Action’ หรือ ‘ข้อเรียกร้องเพื่อการลงมือทำทันที หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย’ รวม 12 ข้อ เพื่อเป็นการยืนยันจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย

อันประกอบด้วย 1. ตระหนักว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นรากฐานสําคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในทุกเป้าหมาย ไม่เพียงเฉพาะเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (SDG 3) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการขจัดความยากจนขั้นรุนแรง การเข้าถึงการศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ การแก้ปัญหาโลกร้อน และการเสริมสร้างสังคมที่สงบสุขอย่างมีส่วนร่วมและไม่แบ่งแยก

2. เน้นย้ำ มติสมัชชาสหประชาชาติที่ 72/138 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ได้รับรองให้วันที่ 12 ธันวาคม เป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล หรือ International Universal Health Coverage(UHC) Day

3. เน้นย้ำ ความสําคัญของปฏิญญาทางการเมืองซึ่งรับรองโดยผู้นําประเทศและผู้แทนรัฐบาลในการประชุมระดับสูงสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หัวข้อ "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า:ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสร้างโลกที่สุขภาพดีขึ้น" ในปี 2562 และ "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า:ขยายความมุ่งมั่นของเราเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในโลกหลังโควิด" ในปี 2566 โดยปฏิญญาทางการเมืองทั้งสองฉบับดังกล่าว ได้กําหนดแนวทางในการขยายความพยายามทั้งในระดับโลกและระดับชาติเพื่อบรรลุเป้าหมาย 3.8 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573

4

4. ขอบคุณ และชื่นชม รัฐบาลไทยในการสร้างและพัฒนาระบบสุขภาพที่มีความเข้มแข็งและความยืดหยุ่นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งเป็นรากฐานสําคัญสําหรับการดําเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งการกําหนดออกแบบ และตัดสินใจเลือกรูปแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในแบบฉบับของประเทศไทย ด้วยแนวทางการทํางานร่วมกันระหว่างรัฐบาลและภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยมุ่งเน้นแนวทางของรัฐบาลที่ตอบสนองประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ และเน้นการดูแลสุขภาพทุกช่วงวัยของชีวิต

5. รับทราบด้วยความชื่นชม ผลการดําเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตัวชี้วัดที่ 3.8.1 ดัชนีความครอบคลุมบริการสุขภาพที่จําเป็นในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยที่ 82 ในปี 2564 (ค่าเฉลี่ยทั่วโลก 68) และตัวชี้วัดที่ 3.8.2

อุบัติการณ์การล้มละลายทางการเงินเมื่อครัวเรือนต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลมากกว่าร้อยละ 10 ของรายจ่ายครัวเรือนของประเทศไทยที่ร้อยละ 2.1 ของจํานวนครัวเรือนทั้งหมด ในปี 2564 (ค่าเฉลี่ยทั่วโลกร้อยละ 13.5) 

6. ตระหนักว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยต้องการการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง รวมทั้งห่วงใยระบบสุขภาพที่ต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ทั้งความท้าทายในระบบสุขภาพ เช่น บุคลากรด้านสุขภาพในฐานะสาเหลักของระบบสุขภาพ ซึ่งต้องการสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มุ่งเน้นความปลอดภัยในการทำงาน และควรต้องได้รับมาตรการในการสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งการจัดสรรจำนวนชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม และความท้าทายนอกระบบสุขภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน การเปลี่วนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศ และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยในระยะยาว 

7. รับทราบ การเจรจาการค้าหรือการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจว่าการเจรจาดังกล่าว ไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อการบริการภายใต้หลักประกันสุขภาพ และไม่แทรกแซงการใช้ความยืดหยุ่นอย่างเต็มที่ตามข้อตกลงด้านสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (TRIPS Agreement) รวมทั้งปฏิญญาโดฮาว่าด้วยข้อตกลงทริปส์และการสาธารณสุข 

8. ห่วงกังวล การดำเนินงานระดับโลกที่อาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3.8 การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2573 โดยประชากรหลายพันล้านคนทั่วโลกยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้ และประชาชนหลายล้านคนต้องเผชิญกับการล้มละลายทางการเงินจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่งนำไปสู่การเจ็บป่วยทั้งที่สามารถป้องกันได้ การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การเพิ่มความเหลื่อมล้ำ และการขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 

9. เน้นย้ำถึง ศักยภาพของประเทศไทยในการออกแบบ ดําเนินการ และติดตามผลการดําเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์นี้ควรนําไปแบ่งปันและเรียนรู้ร่วมกันกับ

ประเทศกําลังพัฒนาอื่นๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3.8 การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

1

10. ตกลง สร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนและสหสาขาวิชาชีพ ในการปรับปรุง พัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อนําไปสู่ความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมตามเจตนารมณ์ของนโยบาย มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จําเป็นอย่างเท่าเทียม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการสุขภาพ และสร้างความยั่งยืนของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยให้มีทรัพยากรที่เพียงพอ มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน

11. สนับสนุน ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกับประเทศกําลังพัฒนาอื่นๆ โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์รวมกันในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คํานึงถึงบริบทและประเด็นที่แต่ละประเทศให้ความสําคัญ ตลอดจนการขับเคลื่อนวาระหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก 

12. ตัดสินใจ จัดการประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยเป็นประจําทุกปีเพื่อติดตามความก้าวหน้าและพัฒนาการดําเนินงานของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร อดีต รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ น.ส.ปาริฉัตร จันทร์อำไพ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม

รศ.พญ.วราลักษณ์ ศรีนนท์ประเสริฐ หัวหน้าหน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ (SiHP) นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นายรัชตะ อุ่นสุข ผู้อำนวยการกลุ่มงานกฎหมาย กรมบัญชีกลาง นางมีนา ดวงราษี ผู้แทนภาคเอกชนงานด้านสตรีในคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข และน.ส.ณัฐณิชา มานะบริบูรณ์ โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล