ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นเวลากว่า 22 ปีแล้วที่ประเทศไทยมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ (บัตรทอง) ซึ่งเป็นกำแพงพิงหลังให้กับผู้ไม่มีหลักประกันใดในชีวิตเลยกว่า 47 ล้านคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้เมื่อยามจำเป็น และไม่ล้มละลายจากความเจ็บป่วย 

อีกทั้งยังเป็นเสมือนจิ๊กซอว์สำคัญในการประกอบรวมเข้ากับ ‘ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ’ และ ‘ระบบประกันสังคม’ ให้ไทยพูดได้อย่างไม่อายใครว่าเรามี ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ที่รองรับประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ผลที่เกิดขึ้นตลอด 2 ทศวรรษ ที่ผ่านมา ยังได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติอย่างสม่ำเสมอ จนถึงกับยกให้เป็นต้นแบบของการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทว่า แท้จริงแล้วถ้าว่ากันด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยอยู่ตำแหน่งแห่งที่ไหนในระดับนานาชาติ ยังคงเป็นคำถามที่ยังรอคำตอบ

ดังนั้นเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2566 ภายในงาน ประชุมระดับนานาชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย พ.ศ. 2566 (National UHC Conference 2023) ภายใต้หัวข้อ “ทบทวนอดีตและแถลงการณ์สู่อนาคต” ที่จัดขึ้นโดย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และองค์การอนามัยโลก (WHO)  

ที่นอกจากการจัดประชุมที่เป็นแกนหลักแล้ว ยังได้มีการประชุมห้องย่อย อภิปรายหลากหลายประเด็น รวมถึงการบรรยายในหัวข้อ “หลักประกันสุขภาพของประเทศไทย อยู่ที่ตรงไหนของโลก? (Thailand’s UHC: where we are?)” โดย ดร.นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เพื่อตอบคำถามดังกล่าวอีกด้วย

อันอยู่ใน session 1 : ความสำเร็จ 2 ทศวรรษในหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย: การสร้างความเป็นธรรม การมีคุณภาพ และความมีประสิทธิภาพ (Thailand’s two-decade UHC achievement: Equity, Quality and Efficiency) 

1

ดร.นพ.ระพีพงศ์ เริ่มอธิบายถึงหลักพื้นฐานของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า คือการที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น และมีคุณภาพ โดยไม่ประสบอุปสรรคทางการเงินทั้งต่อตนเองและครอบครัว จากจุดนี้จึงสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. ประชาชนทุกคนได้รับความครอบคลุมจากหลักประกันสุขภาพของภาครัฐ ซึ่ง 2. บริการสุขภาพที่จำเป็น  และ 3. การป้องกันครัวเรือนจากการล้มละลาย ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยได้บรรลุทั้ง 3 องค์ประกอบเรียบร้อยแล้ว และค่อนข้างทำได้ดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเวทีโลกจริงๆ ไทยจะอยู่จุดไหนคือสิ่งที่ต้องมาดูกัน โดยหากอิงตาม WHO ที่ได้เผยแพร่ Universal Health Coverage Tracking Report 2023 ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระหว่างประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกกับ WHO กว่า 100 ประเทศ ที่ใช้ 2 จุดเน้นในการประเมิน ได้แก่ 

1. ความครอบคลุมบริการสุขภาพ (Service Coverage Index) ใน 4 กลุ่มบริการ คือ กลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มโรคติดต่อร้ายแรง เช่น เอชไอวี (HIV) วัณโรค ฯลฯ กลุ่มโรคติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และสุดท้ายทรัพยากรสุขภาพ หากได้คะแนนมากจะยิ่งดี โดยจาก 0-100 ประเทศไทยได้คะแนนอยู่ที่ 82 คะแนน ซึ่งเทียบได้กับประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ เช่น สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ 

2. การล้มลายทางการเงินด้านสุขภาพ โดยจุดตัดอยู่ที่ 110% ของค่าใช้จ่ายครัวเรือนด้านสุขภาพ กล่าวคือถ้าประเทศใดใช้จ่ายด้านสุขภาพมากกว่าตัวเลขดังกล่าว ถือว่าประสบภาวะล้มละลายทางการเงินด้านสุขภาพ โดยจากข้อมูลพบว่ามีครัวเรือนประมาณ 1.8% ของประเทศไทยที่ประสบกับภาวะดังกล่าว ขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ 13% 

มากไปกว่านั้น หากดูภาวะล้มละลายการเงินด้านสุขภาพของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษ ขณะที่ประเทศไทยยังคงที่ อีกทั้งยังมีแนวโน้มลดลงทีละนิดอีกด้วย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยดำเนินการได้ค่อนข้างดีในการป้องกันภาวะดังกล่าว 

ดร.นพ.ระพีพงศ์ บอกต่อไปว่า เหตุที่ WHO ใช้ 2 สิ่งนี้มาเป็นจุดเน้น เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดเรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หัวข้อที่ 3.8.1 ความครอบคลุมของบริการสุขภาพที่จำเป็น และ 3.8.2 สัดส่วนของประชากรที่มีค่าใช้จ่ายครัวเรือนด้านสุขภาพต่อค่าใช้จ่ายครัวเรือนหรือรายได้ทั้งหมด อยู่ในระดับสูง 

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อนำทั้ง 2 ตัวชี้วัดมาจับคู่กันตัดกันเป็นกราฟ และแบ่งเป็น 4 กลุ่ม จะพบว่า กลุ่มที่อยู่ฝั่งขวาบนคือกลุ่มที่มีผลงานที่ดีในการป้องกันการล้มละลายทางการเงินด้านสุขภาพ และความครอบคลุมด้านบริการสุขภาพที่จำเป็น หรือก็คือกลุ่มประเทศรายได้สูง ซึ่งไทยเป็นกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบนที่มีผลงานใกล้เคียงและอยู่ในฝั่งเดียวกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง 

4

ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ บอกอีกว่า เมื่อขยับมาดูที่ผลลัพธ์ทางสุขภาพเรื่องอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด ประชากรไทยมีอายุคาดเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 70-80 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับสหราชอาณาจักร และสูงกว่าประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมถึงสูงกว่าประเทศในฝั่งเอเชียด้วยกันหลายๆ ประเทศ

อีกส่วนคืออัตราเสียชีวิตในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ของไทยเมื่อก่อนทำผลงานได้ไม่ค่อยดี แต่ในช่วงหลังมานี้ทำได้ค่อนข้างดี โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 10 รายต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ซึ่งถือว่าเข้าใกล้ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหราชอาณาจักร 

ดร.นพ.ระพีพงศ์ กล่าวว่า เหล่านี้เป็นตัวอย่างคร่าวๆ ว่าในภาวะปกติไทยเราก็ทำผลงานได้ดี ขณะที่ภาวะวิกฤต หากยกตัวอย่างใน 2 กรณี ประกอบด้วย 1. มหาอุทกภัย และ 2. การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การให้บริการสุขภาพของประเทศไทยก็ยังคงดำเนินการได้ใกล้เคียงกับปกติ เช่น การส่งน้ำยาล้างไตทางช่องท้องไปให้ถึงที่บ้านผู้ป่วย บริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การส่งยาผ่านทางไปรษณีย์ เป็นอาทิ

“ทั้งหมดนี้ผมขอสรุปเบื้องต้นว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาอย่างต่อเนื่อง” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นท้าทาย เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพที่รวดเร็ว การรองรับสังคมสูงวัย ความหลากหลายของประชากรที่ไม่ใช่ประชากรไทยในแผ่นดินไทย ภาวะโลกร้อน ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานี้มีผลต่อระบาดวิทยาของความเจ็บป่วยของประเทศไทย และส่งผลต่อไปยังความยั่งยืนทางการเงินการคลังด้านสุขภาพของประเทศ

“ผมขอฝากประเด็นเหล่านี้ไว้ว่าในช่วงเวลาต่อไปนี้ ให้ทุกท่านช่วยกันคิดและมองไปในหนทางข้างหน้าว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร เพื่อให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยมีความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป” ดร.นพ.ระพีพงศ์ กล่าว