ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘กรมบัญชีกลาง’ ร่อนหนังสือด่วน ชี้แจงการปรับปรุงหลักเกณฑ์เบิกจ่ายค่ารักษา ‘มะเร็ง - โลหิตวิทยา’ ที่จำเป็นต้องใช้ยาที่มีราคาแพง 


นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฏิบัติราชการแทน รมว.คลัง ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ถึงปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด เลขาธิการ ผู้อำนวยการ อธิการบดี ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้อำนวยการสถานพยาบาลของทางราชการ เรื่อง “ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและโลหิตวิทยาซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง” ลงวันที่ 29 มี.ค. 2567 

สำหรับสาระสำคัญของหนังสือระบุว่า เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลตามความเหมาะสม จำเป็น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล จึงเห็นควรให้ดำเนินการดังนี้ 

1. ยกเลิกแนวทางกำกับการเบิกจ่ายค่ายา Nilotinib-CML ข้อบ่งใช้ Chronic myeloid leukemia (CML) ที่ไม่สามารถใช้ Imatinib ได้ (ปรับปรุง) และแนวทางกำกับการเบิกจ่ายค่ายา Dasatinib-CML ข้อบ่งใช้ Chronic myeloid Leukemia ที่ไม่สามารถใช้ Imatinib/Nilotinib ได้ (ปรับปรุง) ยกเว้นกรณีผู้ป่วยรายเดิมที่มีการลงทะเบียนในระบบ OCPA และอยู่ระหว่างการรักษาด้วยยา Nilotinib หรือ Dasatinib ให้ยังคงเบิกจ่ายตรงตามเงื่อนไขข้อบ่งชี้เดิมได้จนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา พร้อมทั้งกำหนดแนวทางกำกับการเบิกจ่ายค่ายา Dasatinib (Protocol DST-CML) และแนวทางกำกับการเบิกจ่ายค่ายา Nilotinib (Protocol NLT-CML) 

2. ยกเลิกแนวทางกำกับการเบิกจ่ายค่ายา Ceritinib ในโรคมะเร็งปอดระยะแพร่กระจาย ชนิด ALK+ 3. ยกเลิกเกณฑ์เบิกจ่ายค่ายา Ribociclib ในโรคมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายชนิด postmenopausal hormone receptor positive, Her2 negative metastatic breast cancer 

4. กำหนดเพิ่มรายการยาในระบบ OCPA ได้แก่ ยา Brigatinib สำหรับใช้ในการรักษาโรคมะเร็งปอดระยะแพร่กระจาย ชนิด ALK+ (เช่นเดียวกับยา Ceritinib) ยา Crizotinib สำหรับใช้ในการรักษาโรคมะเร็งปอดระยะแพร่กระจาย ชนิด ROS-1 fusion และ ยา Palbociclib สำหรับใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย ชนิด postmenopausal hormone receptor positive, HER2 negative metatastic breast cancer 

ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางกำกับการเบิกจ่ายค่ายา Brigatnib/Ceritinib, Crizotinib และ Palbociclib โดยสถานพยาบาลจะต้องดำเนินการลงทะเบียนแพทย์ผู้ทำการรักษาและผู้ป่วย พร้อมทั้งส่งข้อมูลตามโปรโตคอลที่กำหนดในระบบ OCPA เพื่อขออนุมัติเบิกค่ายา หรือขอต่ออายุการเบิกค่ายา หรือขอหยุดการใช้ยา ตามแนวทางที่หน่วยงาน ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมบัญชีกลางกำหนด โดยเบิกจ่ายค่ายาในระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น รวมทั้งการใช้ยาดังกล่าวต้องเป็นไปตามเงื่อนไขข้อบ่งชี้ที่กำหนด จึงจะสามารถเบิกจ่ายจากทางราชการได้ 

5. สำหรับยาขนานอื่นในกลุ่ม ALK inhibitor (Alectinib และ Lorlatinib) และกลุ่ม CDK4/6 inhibitor (Abemaciclib และ Ribociclib) จะไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ยกเว้นผู้ป่วยรายเดิมที่ได้ลงทะเบียนในระบบ OCPA เพื่อขออนุมัติเบิกจ่ายค่ายา Ribociclib หรือลงทะเบียนในระบบ OCPA (oldcase) เพื่อขออนุมัติเบิกจ่าค่ายา Alectinib และยังอยู่ระหว่างการรักษาด้วยยาดังกล่าว ยังคงเบิกจ่ายตรงได้ตามหลักเกณฑ์เดิมจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา 

6. กรณีที่สถานพยาบาลมีการออกใบเสร็จรับเงินค่ายากลุ่ม ALK inhibitor (Alectinib, Brigatinib, Certinib Crizotinib และ Lorlatinib) กลุ่ม CDK4/6 inhibitor (Abemaciclib, Palbociclib และ Ricociclib) และกลุ่ม Tyrosine kinase inhibitor (Imatinib, Dasatinib และ Nilotinib) ให้แจงรายละเอียดชื่อรายการยา พร้อมทั้งระบุเป็นค่ายาที่เบิกไม่ได้ และหากเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่ให้ออกใบรับรองในการสั่งใช้ยาดังกล่าว โดยผู้มีสิทธิจะไม่สามารถนำใบเสร็จรับเงินค่ายาดังกล่าวทุกรูปแบบ ขนาด และความแรงมายื่นเบิกเงินกับส่วนราชการต้นสังกัดได้ 

7. ยกเลิกอัตราเบิกจ่ายค่ายา Imatinib ความแรง 100 มิลลิกรัม และ 400 มิลลิกรัม และกำหนดอัตราเบิกจ่ายค่ายา Dasatinib, Fulvestrant และ Imatinib โดยให้เบิกจ่ายได้ไม่เกินอัตราที่กำหนด และให้ใช้กับการักษทุกข้อบ่งชี้ 

อนึ่ง ข้อ 1 – 6 ให้มีผลบังคับใช้กับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2567 เป็นต้นไป ส่วนอัตราเบิกจ่ายค่ายาตามข้อ 7 ให้มีผลบังคับใช้กับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. 2567 เป็นต้นไป
 

อ่านหนังสือฉบับเต็มได้ที่ไฟล์แนบด้านล่าง