ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘มูลนิธิผสานวัฒนธรรม’ ชง ‘ซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ’ พัฒนา 3 กองทุนสุขภาพ ให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงสิทธิพื้นฐานได้ เสนอแก้ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้ทุกกองทุนต้องได้รับสิทธิพื้นฐานไม่ต่ำกว่าบัตรทอง


นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เตรียมเสนอให้ ‘คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ’ หรือ ซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เร่งแก้ปัญหา-พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ ให้ทันสมัย ครอบคลุม มีคุณภาพ ที่สำคัญคือลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุน

สำหรับเรื่องสำคัญที่คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติควรเข้ามาบริหารจัดการ ควรเป็นเรื่องการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งประกอบด้วย 3 ระบบใหญ่ หรือ 3 กองทุนสุขภาพ ซึ่งมีแนวคิดและการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ‘ระบบบัตรทอง’ ที่รับรองให้บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสม และได้มาตรฐาน ส่วน ‘ระบบประกันสังคม’ เน้นให้สังคมดูแลซึ่งกันและกัน รัฐจะดูแลประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานโดยให้แรงงานและนายจ้างมีส่วนร่วม ขณะที่ ‘ระบบสวัสดิการข้าราชการ’ ที่เป็นสวัสดิการที่รัฐให้แก่ข้าราชการ พนักงานและลูกจ้าง

ทั้งนี้ แต่ละระบบมีประเภทของบริการและวิธีจัดบริการสาธารณสุขไม่เหมือนกัน ทำให้ผู้เข้ารับบริการในแต่ละระบบ เข้าถึงประเภทและมาตรฐานการบริการสาธารณสุขซึ่งเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่เหลี่ยมล้ำไม่เท่าเทียมกัน

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า แม้รัฐบาลจะเห็นปัญหานี้ โดยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 เรื่องการลดความเหลี่ยมล้ำระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพของรัฐ แต่ก็ยังมีความเหลี่ยมล้ำตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยปัญหาส่วนหนึ่งมาจากระบบสวัสดิการข้าราชการและระบบประกันสังคมมีมาก่อน  ในขณะที่ระบบบัตรทองมีในช่วงหลัง และได้พัฒนาในหลายๆ เรื่องให้เหมาะสมกับยุคสมัย ขณะที่ 2 ระบบที่อยู่มาก่อน ไม่ได้มีการปรับให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและยุคสมัย

จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิรูประบบให้บริการของข้าราชการและประกันสังคมให้ทันสมัย และกำหนดนโยบายและดำเนินการให้ผู้รับบริการทั้งสองระบบได้รับบริการไม่ต่ำกว่าบริการขั้นพื้นฐานตามระบบบัตรทอง นายสุรพงษ์ กล่าว

สำหรับแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำ ‘นายสุรพงษ์’ กล่าวว่า ต้องแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่กำหนดให้ผู้รับบริการต้องใช้สิทธิจากระบบบริการที่ตนมีสิทธิก่อน และเพิ่มเติมว่า หากสิทธินั้นด้อยกว่าหรือไม่ครอบคลุมเท่ากับสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ได้รับสิทธิเท่าที่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด

นอกจากนี้ จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่องบุคคลที่ไม่ต้องร่วมจ่ายค่าบริการ โดยให้คนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง คนไร้รากเหง้า คนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร เป็นบุคคลที่ไม่ต้องร่วมจ่ายค่าบริการด้วย

สำหรับระบบสวัสดิการข้าราชการ ต้องเพิ่มการจัดสวัสดิการด้านสุขภาพให้กับเจ้าพนักงานส่วนท้องถิ่น อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตลอดจนให้สวัสดิการด้านสุขภาพกับพนักงานฝ่ายปกครอง อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ด้วย

ขณะที่ระบบประกันสังคม ต้องแก้ไขให้ครอบคลุมถึงบริการด้านการตรวจสุขภาพและการป้องกันโรค ในส่วนสิทธิของแรงงานนอกระบบ ให้นายจ้างเข้ามามีส่วนร่วม และให้แรงงานนอกระบบมีสิทธิเช่นเดียวกับแรงงานอื่นๆ ทั่วไป

“คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จึงเป็นชุดที่มีความสำคัญมากที่สุดในระบบสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นซูเปอร์บอร์ด ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในระบบสุขภาพของประเทศไทย ดังนั้นการตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกครั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่เข้าไปแทรกแซงนโยบายและการทำงานของหน่วยงานทางสุขภาพที่ทำงานอยู่แล้ว โดยการให้อิสระในการทำงานเช่นเดิมและไม่ก้าวก่ายตลอดจนกำกับหรือเพิ่มขั้นตอนการทำงานให้หน่วยงานเหล่านั้น” นายสุรพงษ์ กล่าว