ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิมิตรภาพบำบัด และ สปสช. ร่วมทำบุญ 16 ปี การจากไปของ “หมอสงวน” รำลึกผลงานคุณูปการ บุกเบิกนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สร้าง “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ดูแลคนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาล


 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา มูลนิธิมิตรภาพบำบัด (กองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมีคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และบุคลากร สปสช. อาทิ รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นางพนิต มโนการ ผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล สปสช. นายสาธิต ทิมขำ ผอ.สปสช. เขต 4 สระบุรี พร้อมทั้งอดีตผู้บริหาร สปสช. อาทิ นพ.วินัย สวัสดิวร และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา อดีตเลขาธิการ สปสช. นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ อดีตรองเลขาธิการ สปสช. เป็นต้น รวมถึงเจ้าหน้าที่ สปสช. ที่เกษียณ ร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลและรำลึก 16 ปีการจากไปของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หรือ หมอหงวน เลขาธิการ สปสช. คนแรก และผู้นำในการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ณ ที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จ.นนทบุรี โดยมีพระครูนนทสังฆกิจจาพิมล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชลประทาน ปาฐกถาธรรมเพื่อร่วมรำลึกถึง นพ.สงวน 

1

นางพนิต มโนการ ในฐานะผู้จัดการมูลนิธิมิตรภาพบำบัด กล่าวว่า นพ.สงวน นับเป็นบุคคลที่ได้สร้างคุณูปการให้กับคนไทยทั้งประเทศ จากในอดีตที่ท่านเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ทำให้ท่านมองเห็นถึงความทุกข์ยากของชาวบ้าน และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพ จึงเกิดแนวคิดและจิตใจที่มุ่งมั่น พร้อมมุ่งทำงานทุ่มเทและเสียสละ โดยทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม นักวิชาการ เพื่อผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จนนำไปสู่การเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคการเมือง และของรัฐบาลจนเกิดการจัดตั้ง “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” สำเร็จในปี 2545 ที่นับเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ของประเทศไทย 

แม้ว่า นพ.สงวน จะจากไป 16 ปีแล้ว แต่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังคงเป็นโยบายสำคัญของทุกรัฐบาลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในการสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วยเป็นนโยบายที่ยังประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง

2

สำหรับผลที่เกิดขึ้นไม่เพียงทำให้คนไทยทั้งประเทศที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพรองรับเข้าถึงการรักษาได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่พิสูจน์ชัดเจน ขณะเดียวกันช่วยให้คนไทยไม่ต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ประเทศไทยได้รับการยกย่องและเป็นต้นแบบประเทศที่ดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยองค์การอนามัยโลกยังได้ผลักดันให้แต่ละประเทศเร่งสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อดูแลประชากรในประเทศตนเอง และมีการกำหนดให้ทุกวันที่ 12 ธันวาคม เป็นวันหลักประกันสุขภาพสากล   

นอกจากนี้จากที่ นพ.สงวน ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช. คนแรก และได้ทำหน้าที่เลขาธิการ สปสช. ต่อเนื่องในวาระที่ 2 โดยในช่วง 5-6 ปี ของการดำรงตำแหน่งนี้ นพ.สงวน ยังเป็นผู้วางรากฐานสำคัญด้านต่างๆ ให้กับ สปสช. ส่งผลให้การดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตลอดระยะเวลา 21 ปี เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล บรรลุเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในการดูแลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง และที่สำคัญยังสร้างวัฒนธรรมให้เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลและมีความโปร่งใสในการบริหารกองทุน ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ สปสช.ได้ยืดถือถึงมาถึงปัจจุบัน

8

นอกจากนี้ในช่วงที่ นพ.สงวนเจ็บป่วย ด้วยความเข้าใจผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลด้านจิตใจ จึงนำแนวคิด "จิตอาสามิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน ผู้ป่วยช่วยผู้ป่วย” มาใช้ ซึ่งคนเจ็บป่วยย่อมต้องการคนที่เข้าใจ ต้องการคำแนะนำปฏิบัติตัวจากประสบการณ์จริงที่เป็นผู้ป่วยด้วยกัน ทำให้มีกำลังใจและยืนหยัดสู้โรคได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งแนวคิดจิตอาสามิตรภาพบำบัดเพื่อช่วยเพื่อนนี้ ต่อมาได้มีการพัฒนาและขยายแนวคิดนี้จนเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพของไทยในปัจจุบัน 

“16 ปีแล้ว ที่คุณหมอสงวนได้จากเราไป แต่คุณงามความดีที่ท่านได้ทำไว้ ในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ ที่หยั่งรากลึก แผ่ขยายกิ่งก้านสาขา กลายเป็นระบบสุขภาพที่ดูแลคนไทยทั้งประเทศ และเชื่อมั่นว่า ไม่แต่ชาว สปสช. แต่คนไทยทุกคนจะร่วมกันสานต่อ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นระบบสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศสืบไป” ผู้จัดการมูลนิธิมิตรภาพบำบัด กล่าว 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ