ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เผย วิกฤต COVID-19 ผู้ป่วยสมัครร่วม “โครงการรับยาใกล้บ้าน” พุ่ง ขณะที่ รพ.เพิ่มเครือข่ายร้านยา พร้อมขอขยายกลุ่มโรคเรื้อรังรับยาร้านยาเพิ่มในช่วงระหว่างนี้ ลดความเสี่ยงผู้ป่วยรับเชื้อ ช่วยควบคุมการแพร่ระบาด สะท้อนความสำคัญกลไกร้านยา หน่วยบริการร่วมระบบสุขภาพ ร่วมดูแลสุขภาพประชาชน

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งขาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ สปสช.ได้ดำเนินโครงการผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เพื่อช่วยลดแออัดในโรงพยาบาลรัฐ หรือ “โครงการรับยาใกล้บ้าน” โดยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 นับเป็นกลไกที่ช่วยลดความเสี่ยงผู้ป่วยในการรับเชื้อและการแพร่ระบาดของโรคได้ ช่วงที่ผ่านมาได้มีโรงพยาบาลหลายแห่งได้ประสานขอเพิ่มจำนวนร้านยาเครือข่ายเพื่อร่วมโครงการฯ

ทั้งนี้จากข้อมูลรายงานโครงการฯ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการรับยาใกล้บ้านจำนวน 108 แห่ง ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ 889 แห่ง และผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ 4,556 ราย จากข้อมูลรายงานเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 มีโรงพยาบาลเข้าร่วม 91 แห่ง ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ 750 แห่ง และผู้ป่วยที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 2,433 แห่ง พบว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเพิ่ม 19 แห่ง และร้านยา 139 แห่ง สำหรับในส่วนของผู้ป่วยที่สมัครเข้าร่วมโครงการมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก 2,123 คน หรือเกือบเท่าตัว  

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ตามที่ สปสช.ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคเข้าร่วมโครงการ คือ กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวชเรื้อรัง ซึ่งในช่วงสถานการณ์วิกฤตขณะนี้ส่งผลให้หลายโรงพยาบาลจำเป็นต้องปิดบริการบางส่วนเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ แต่เนื่องจากยังคงมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นหลายกลุ่มโรคที่คงต้องได้รับยาต่อเนื่องเพื่อควบคุมอาการ ดังนั้นที่ผ่านมาโรงพยาบาลหลายแห่งได้ทำหนังสือแจ้งมายัง สปสช. เพื่อขยายโครงการรับยาใกล้บ้านในส่วนของโรงพยาบาลให้ขยายครอบคลุมไปยังผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ด้วย อาทิ โรคไทรอยด์ โรคผิวหนัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเลือด โรคภูมิแพ้ โรคไต โรคจักษุ และโรคเรื้อรังอื่นที่สามารถควบคุมได้ เน้นเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ตามการวินิจฉัยของแพทย์ ช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ป่วย

“รับยาใกล้บ้านเป็นโครงการที่มีประโยชน์ทั้งกับผู้ป่วยและหน่วยบริการ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาด COVID-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยขอเข้าร่วมโครงการเพิ่ม สะท้อนให้เห็นว่าร้านยาสามารถทำหน้าที่เป็นหน่วยร่วมบริการในระบบสุขภาพได้ดี ช่วยให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้รับยาอย่างต่อเนื่องทั้งในยามสถานการณ์ที่เป็นปกติและไม่ปกติได้ ทำให้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลได้รับยาต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังมีการติดตามอาการผู้ป่วยผ่านการดูแลโดยเภสัชกรประจำร้านยาและรายงานเข้าสู่ระบบไปยังโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่องได้ในขณะนี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว