ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ชำแหละ 4 อุปสรรค ขวางการสร้างหลักประกันสุขภาพในอนาคต ชี้ งบประมาณจำกัด ความต้องการเพิ่มขึ้น ระบบเหลื่อมล้ำ ความเข้าใจคลาดเคลื่อน คือความท้าทายในระยะต่อไป

รายงานผลการดำเนินงานการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558 ในหัวข้อ “อุปสรรคและความท้าทายในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เผยแพร่สู่สาธารณะ และนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วิเคราะห์ไว้ตอนหนึ่งว่า ความร่วมมือและการสนับสนุนจากรัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบาย คณะกรรมการ (บอร์ด) สปสช. และองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง คือปัจจัยความสำเร็จในการขับเคลื่อนงานในอนาคต

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยมีความสำเร็จในระดับหนึ่ง เป็นที่ยอมรับและเป็นตัวอย่างการดำเนินงานสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระดับนานาชาติ แต่เนื่องจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและสภาพแวดล้อมต่างๆ ส่งผลต่อการดำเนินงานในระยะต่อไปภายใต้ความท้าทายที่หลากหลาย

ทั้งนี้ ประกอบด้วย

1.การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ เนื่องจากประเทศไทยภายใต้บริบทใหม่ที่แนวโน้มการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สมดุลใหม่ ภาวะเศรษฐกิจเติบโตช้าหรือไม่เพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หากงบประมาณที่ได้รับไม่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนบริการและความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องมีการจัดการประสิทธิภาพอย่างเข้มงวด และพัฒนากลไกและวิธีการจ่ายที่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาว โดยไม่กระทบต่อบริการประชาชน

2.ความต้องการบริการสาธารณสุขที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม การเจริญเติบโตของเมืองและแหล่งเสื่อมโทรม โครงสร้างประชากร ผู้สูงอายุ ระบาดวิทยาของโรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ จึงต้องมีการจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเฉพาะเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การจัดระบบริการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจรรองรับสังคมผู้สูงอายุ การจัดการกับโรคไม่ติดต่อและโรคเรื้อรัง การให้ความสำคัญกับการประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อนำมาใช้อย่างเหมาะสม ฯลฯ

3.ความเหลื่อมล้ำในระหว่างระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้มีสิทธิแต่ละระบบ จึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนให้เกิดการบูรณาการระบบประกันสุขภาพภาครัฐในภาพใหญ่และระบบบริการเฉพาะบางอย่าง เช่น ระบบบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ระบบริการโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงหรือเข้าถึงบริการได้น้อย ที่ต้องการการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน รวมทั้งบูรณาการระบบบริหารจัดการ เช่น ระบบรับ-ส่ง ข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการ ระบบข้อมูลบริการสาธารณสุข ระบบการลงทะเบียน ระบบการตรวจสอบ ฯลฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและลดภาระการดำเนินการซ้ำซ้อน

4.ความไม่เข้าใจกันระหว่างหน่วยบริหารงบประมาณ (Purchaser) และหน่วยให้บริการ (Providers) หรือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ จึงต้องให้ความสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วม การทำความเข้าใจ การประสานความร่วมมือ การหารือและเปิดเวทีเจรจาอย่างเป็นระบบ การขยายกลไกการตรวจสอบที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย รวมทั้งการปรับปรุงระบบงานภายในของ สปสช.ให้เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูง และพัฒนาไปสู่ความรู้สึกเป็นเจ้าของระบบ เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมผนึกกำลังในการขับเคลื่อนการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทยไปด้วยกัน

ที่มา: รายงานผลการดำเนินงานการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558