ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท ได้รับจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาบริหารจัดการกองทุนฯ ให้บรรลุเป้าหมายตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มุ่งสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทยทุกคนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพรองรับ เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ไม่มีปัญหาการเงินเป็นอุปสรรค โดยแต่ละปี สปสช. ได้จัดทำรายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานตามมาตรา 18 (12) แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ

ในปีงบประมาณ 2566 นับเป็นอีกปีหนึ่งที่ สปสช. ได้ทำบทบาทและหน้าที่ โดยมีคนไทยมีสิทธิบัตรทองฯ กว่า 47.2 ล้านคน และมีหน่วยบริการทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกขน 17,247 แห่งทั่วประเทศร่วมให้การดูแล โดยข้อมูลการเข้าถึงบริการในระบบบัตรทองมีจำนวนของการรับบริการผู้ป่วยนอก 164.98 ล้านครั้ง และผู้ป่วยใน 6.26 ล้านครั้ง

สำหรับบริการที่แยกเป็นกองทุนเฉพาะนั้น สปสช. ยังคงได้ให้การดูแลต่อเนื่อง ปี 2566 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ได้รับการดูแล 305,527 คน ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง 92,666 คน ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่ได้รับการดูแลป้องกันความรุนแรงโรค 4.27 ล้านคน ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน 13,107 คน ผู้ป่วยติดเตียงภาวะพึ่งพิง 334,823 คน ผู้ป่วยที่เข้าถึงบริการปฐมภูมิ 2.83 ครั้ง ผู้ป่วยรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากการรับบริการ/ผู้ให้บริการรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากการให้บริการ 23,301 คน และประชาชนรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 66.90 ล้านคน (ข้อมูล ณ 30 ก.ย. 66)

อย่างไรก็ดี เมื่อประมวลผลของการดำเนินงานในปีนี้ สปสช. ได้บริหารจัดการกองทุนฯ แยกเป็นการดำเนินงาน 10 ผลงาน ดังนี้ 

1. ยกระดับบริการปฐมภูมิเขตเมือง โดยนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาร่วมให้บริการที่เพิ่มการเข้าถึง ทั้งบริการสาธารณสุขทางไกลในลักษณะผู้ป่วยนอกตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข บริการการแพทย์ทางไกลดูแล 42 กลุ่มโรคผ่านแอปสุขภาพ หน่วยบริการสุขภาพทางเลือกใหม่/บริการสุขภาพเคลื่อนที่ อาทิ รถทันตกรรมเคลื่อนที่ และบริการแว่นตาสำหรับเด็ก

2. สนับสนุนหน่วยบริการนวัตกรรมสอดรับกับวิถีชีวิตใหม่ เพิ่มการเข้าถึงการรักษาและสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไม่ว่าจะเป็นบริการที่ร้านยา คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นต้น และบริการสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 

3. หนุนเสริมใช้เครื่องมือ/อุปกรณ์ทางการแพทย์บัญชีนวัตกรรม ปี 2566 เพิ่มนวัตกรรมรากฟันเทียมและถุงทวารเทียมในระบบเบิกจ่าย เพื่อผู้ป่วยบัตรทองเข้าถึงการรักษา พร้อมเดินหน้าความร่วมมือขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการลงทุนและการบริการทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง เพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, การพัฒนาห้องปฏิบัติการเชิงนโยบายเพื่อสร้างระบบบริการสุขภาพแบบเน้นคุณค่าสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย, การศึกษา การวิจัยพัฒนา และการประยุกต์ใช้นวัตกรรมในการให้บริการด้านสุขภาพของภาครัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการพัฒนาขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

4. 1330 Contact Center ยกระดับสู่ “มาตรฐาน ISO 18295-1 ระบบการจัดการศูนย์ติดต่อลูกค้า” จากการพัฒนาที่เพิ่มช่องทางบริการที่หลากหลายผ่านระบบออนไลน์ สามารถให้บริการประชาชนได้สะดวกและรวดเร็ว ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ISO 18295-1 และส่งผลในปีนี้ได้ขยายเพิ่มเติม ทั้งบริการประสานส่งต่อผู้ป่วยทำเส้นเลือกฟอกไต บริการส่งต่อประชากรแฝงและประชากรสิทธิว่างในพื้นที่ กทม. บริการแนะนำสิทธิสร้างเสริมสุภาพและป้องกันโรค และการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ เช่น ความไม่สะดวกในการรับบริการ การไม่ได้รับบริการตามสิทธิ เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาช่องทาง  Provider Call Center สำหรับหน่วยบริการในระบบบัตรทองโดยเฉพาะ 


 
5. ควบคุมคุณภาพบริการสาธารณสุขเชิงรุก แก้ไขปัญหากรณีถูกหน่วยบริการเรียกเก็บเงินโดยที่หน่วยบริการไม่มีสิทธิเรียกเก็บ (Extra Billing) กำหนดเป็นแผนดำเนินการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) ตามจุดเน้น “คุ้มครองสิทธิประชาชนในการเข้ารับบริการ” เพื่อเร่งแก้ไขปัญหา โดยจับมือกับ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ในการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ และลดปัญหาประชาชนถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย พร้อมมีการจัดการภายในและภายนอกองค์กรที่เป็นแก้ปัญหาเชิงระบบ

6. ขับเคลื่อน “ห้องฉุกเฉินคุณภาพ” ด้วย “ห้องตรวจนอกเวลาราชการ” จากที่ สปสช. เริ่มดำเนินการในปี 2563 ส่งผลให้จำนวนผู้รับบริการห้องตรวจนอกเวลาราชการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2566 มีจำนวนผู้รับบริการ 858,082 ราย สูงกว่าปี 2565 ที่มีผู้รับบริการ 224,683 หรือ 3.8 เท่า ทั้งนี้เป็นผลจากการขยายจำนวนห้องตรวจนอกเวลาราชการจาก 64 แห่ง ในปี 2565 เพิ่มเป็น 265 แห่ง ในปี 2566 หรือเพิ่มเป็น 4 เท่า โดยส่วนใหญ่เป็นการทำแผล โรคระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ช่วยลดภาระห้องฉุกเฉินได้อย่างชัดเจน ช่วยเพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน

7. การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ปี 2566 มี อปท. เข้าร่วม 7,753 แห่ง จากทั้งหมด 7,774 แห่ง (ร้อยละ 99.73) จากการบูรณาการร่วมกับกลไกในพื้นที่ เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) หรือ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขตกรุงเทพมหานคร (พชข.) ส่งผลให้มีการจัดทำโครงการต่างๆ ภายใต้ กปท. เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในชุมชน โดยมีจำนวนโครงการทั้งสิ้น 174,643 โครงการ มีประชาชนได้รับประโยชน์จากกองทุน 44.21 ล้านคน ส่งผลให้ยอดงบประมาณ กปท. คงเหลือลดลงอยู่ที่จำนวน 1,935.70  ล้านบาท เป็นจำนวนเงินคงเหลือที่ต่ำกว่าทุกปีที่ผ่านมา

8. บูรณาการสร้างความกลมกลืนในระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ 3 กองทุน ปี 2566 กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และ สปสช. ร่วมบูรณาการผ่านกลไกคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาแต่ละระบบให้สอดคล้องกลมกลืนและมีมาตรฐานเดียวกัน ที่ปรากฎผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การปรับและขยายขอบเขตสิทธิประโยชน์และอัตราจ่ายชดเชยค่าบริการที่สำคัญให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน บูรณาการระบบบริหารจัดการให้กลมกลืนกัน เช่น Clearing House การตรวจสอบการจ่ายชดเชยและคุณภาพบริการ เป็นต้น นอกจากนี้ยังดำเนินการให้คนไทยทุกคนทุกสิทธิได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค บริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงภายใต้ระบบบัตรทอง เป็นต้น

9.พัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ในระบบฯ ปีงบประมาณ 2566 มีบริการใหม่ในชุดสิทธิประโยชน์ 13 รายการ ดังนี้ บริการรักษาเนื้อเยื่อในฟันกรามแท้ ผ่าตัดใส่รากฟันเทียมในผู้ไม่มีฟันทั้งปาก การตรวจไวรัสตับอักเสบบีในหญิงตั้งครรภ์ คัดกรองธาลัสซีเมียในสามี/คู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกราย คัดกรองซิฟิลิสในสามี/คู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกราย ตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กไทยแรกเกิดทุกคน ตรวจยีน BRCA1 BRCA2 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ ตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry (TMS) ในทารกแรกเกิด คัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก ตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน (HBPM) สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 และสายด่วนสุขภาพจิต 1323 คัดกรองปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และคัดกรองวัณโรคในกลุ่มเสี่ยงสูง

10. หลักประกันสุขภาพไทยขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพโลก ปี 2566 สปสช. ร่วมขับเคลื่อนนโยบายหลักประกันสุขภาพระดับโลก โดยไปตามแผนปฏิบัติราชการ สปสช. ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2566-2570 กลยุทธ์ที่ 4.2 สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายหลักประกันสุขภาพระดับโลก (UHC in Global Health) ร่วมจัดทำข้อมูลการเจรจาและร่างข้อตัดสินใจเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สู่กลไกและเวทีที่เกี่ยวข้อง ทั้งเวทีปรึกษาหารือด้านวิชาการ เวทีประชุมองค์การอนามัยโลก และเวทีประชุมสมัชชาสหประชาชาติ นำไปสู่การประกาศปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าฉบับใหม่ a new Political Declaration on Universal Health Coverage “Universal Health coverage: expanding our ambition for health and well-being in a post-COVID world” ในการประชุม high-level meeting of the General Assembly on Universal Health Coverage เมื่อเดือนกันยายน 2566 ย้ำเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกสหประชาชาติต่อการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี พ.ศ. 2573