ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

IHPP ชี้การเกิดขึ้นของ “บัตรทอง” ทำให้ระบบการคลังสุขภาพเปลี่ยนเป็นแบบก้าวหน้า (progressivity) เพิ่มขึ้น ลดรายจ่ายภาคครัวเรือน และมีอัตราการเข้าถึงบริการค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว


ดร.วุฒิพันธุ์ วงษ์มงคล นักวิจัยด้านการเงินการคลังสุขภาพ (Health Financing) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวบรรยาย หัวข้อ“ค่าใช้จ่ายสุขภาพภาครัฐ และประโยชน์ต่อครัวเรือนไทย” ในงานวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล 2022 เมื่อเร็วๆ นี้ โดยระบุว่า แนวโน้มการเงินการคลังด้านสุขภาพของไทย ปัจจุบันรัฐเป็นผู้จ่ายในสัดส่วนที่สูงกว่าแหล่งคลังจากนอกภาครัฐ และมีแนวโน้มค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนต่อจีดีพียังอยู่ที่ประมาณ 3-4% ไม่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงมากนัก

ดร.วุฒิพันธุ์ กล่าวอีกว่า หลังจากเกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2545 แล้ว พบว่าทำให้ระบบการคลังเปลี่ยนไป ระบบมีลักษณะก้าวหน้า (progressivity) เพิ่มขึ้น คนรวยจ่ายเงินด้านสุขภาพในสัดส่วนที่สูงกว่าคนจนเมื่อเทียบกับความสามารถในการจ่ายของตัวเอง และเมื่อเทียบในกลุ่มค่าใช้จ่ายนอกภาครัฐ พบว่าค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็มีสัดส่วนลดลงเมื่อเทียบกับแหล่งการคลังนอกภาครัฐอื่นๆ จาก 30% ในอดีตก่อนมีระบบบัตรทองเป็น 8.5% ในปัจจุบัน 

ขณะเดียวกัน สัดส่วนค่าใช้จ่ายสุขภาพที่ครัวเรือนต้องจ่ายเองก็ลดลงทั้งในครัวเรือนที่ร่ำรวยและครัวเรือนที่ยากจน ตัวเลขครัวเรือนที่ยากจนจากค่าใช้จ่ายสุขภาพลดลงเหลือประมาณ 0.2% ตัวเลขครัวเรือนที่ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายสุขภาพมีจำนวนและสัดส่วนที่ลดลงเหลือประมาณ 2% และถือเป็นตัวเลขที่ต่ำเมือเทียบกับประเทศอื่นๆ

1

นอกจากนี้ เมื่อดูอัตราการเข้าถึงบริการ ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีการล้มละลายจากค่าใช้จ่ายต่ำและมีอัตราการเข้าถึงบริการสูง สะท้อนว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนที่ลดลง ไม่ได้เกิดจากการเข้าไม่ถึงบริการ เช่นเดียวกับสัดส่วนประชากรที่มีความจำเป็นด้านสุขภาพที่ไม่ได้รับการตอบสนอง (unmet health need) ก็มีสัดส่วนที่ต่ำและมีแนวโน้มลดลงในบริการผู้ป่วยในและบริการทันตกรรม ส่วนบริการผู้ป่วยนอกมีแนวโน้มคงที่ โดยรวมแล้วถือว่าค่อนข้างดีเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

“สิ่งสำคัญ จากการวิเคราะห์พบว่าคนจนได้รับผลประโยชน์จากเงินอุดหนุนด้านสุขภาพของรัฐมากกว่าคนรวยเล็กน้อย ทั้งบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน สามารถแบ่งเบาภาระผู้มีรายได้น้อยเป็นอย่างดี และถ้าดูสัดส่วนการได้รับประโยชน์จากรัฐในการอุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในกลุ่มผู้ใช้สิทธิบัตรทองด้วยกันเอง พบว่ากลุ่มคนจนได้รับการอุดหนุนรวม (ผู้ป่วยนอก+ผู้ป่วยใน) มากกว่าคนรวย อย่างไรก็ดี ในระยะหลังความแตกต่างในการได้รับประโยชน์ระหว่างคนจนคนรวยในกลุ่มบัตรทองลดลง สะท้อนว่าไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวยได้รับประโยชน์จากระบบหลักประกันสุขภาพไม่แตกต่างกันเท่าใด”ดร.วุฒิพันธุ์ กล่าว