ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์กรคณะสงฆ์ - สสส. - สช. - สปสช. และภาคีเครือข่าย เดินหน้าประกาศโครงการพระสงฆ์นักพัฒนาการสาธารณสงเคราะห์กับพื้นที่ต้นแบบการสร้างสังคมสุขภาวะ หนุนสงฆ์ไทย 390,000 รูป เป็นพระสงฆ์ผู้นำสร้างสุขภาวะชุมชน ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ

พระมงคลวชิรากร เลขานุการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม กล่าวในการประชุมสัมมนาเชื่อมโยงและทำความเข้าใจเครือข่ายคณะสงฆ์ โครงการพระสงฆ์นักพัฒนาการสาธารณสงเคราะห์กับพื้นที่ต้นแบบการสร้างสังคมสุขภาวะ ว่า องค์กรคณะสงฆ์ร่วมกับภาคีเครือข่าย เดินหน้าสร้างความเข้าใจพระสงฆ์ทั่วประเทศ เพื่อขอความร่วมมือในการเข้าร่วมโครงการพระสงฆ์นักพัฒนาการสาธารณสงเคราะห์ฯ พร้อมกับเร่งรวบรวมรูปแบบและเครื่องมือการทำงานของพระสงฆ์สาธารณสงเคราะห์ที่ผ่านมา ทั้งในระดับนโยบายและพื้นที่ใน 77 จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมามีพระสงฆ์ทั่วประเทศ ช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดการป่า ปลูกป่า/บวชป่า การป้องกันและแก้ไขยาเสพติดชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน ไถ่ชีวิตโคกระบือเพื่อเกษตรกร การเกษตรวิถีพุทธ การอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรม กองทุนช่วยเหลือสาธารณภัย ฯลฯ ทั้งหมดนี้จะเป็นแนวทางให้พระสงฆ์และสามเณร 390,000 รูปทั่วประเทศ พัฒนาศักยภาพสู่การเป็นพระสงฆ์สาธารณสงเคราะห์ทั้ง 5 ด้าน ประกอบไปด้วย การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการสุขภาวะและกลุ่มวัย การพัฒนาระบบเศรษฐกิจวิถีพุทธ การส่งเสริมภูมิปัญญาและวัฒนธรรม และการจัดการพื้นที่การเรียนรู้วิถีพุทธ

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มีพันธกิจสร้างเสริมสุขภาวะ 4 มิติ ทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม ปัจจัยสำคัญแรกคือปัจเจกบุคคล อย่างเช่นการรับศีล 5 บางคนทำได้ครบทุกข้อ ขณะที่บางคนทำได้ไม่ครบ ดังนั้นการดูแลสุขภาวะของปัจเจกอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีด้วย สภาพแวดล้อมในมิติของสถาบันศาสนาในที่นี้ จึงหมายถึง "สัปปายะสถาน” สถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสมเกื้อกูลให้คนประพฤติปฎิบัติธรรมด้วยความสบายกาย สบายใจ นอกจากนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ยังให้แนวทางปฏิบัติกับ สสส. ถึงองค์ประกอบในการเปลี่ยนแปลงสังคม 3 ข้อ ได้แก่ พลังความรู้ เช่น การสกัดความรู้รูปแบบการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะโดยพระสงฆ์และวัด ก่อนจะนำไปสู่การขยายเครือข่าย เช่น ปี 2554 มีวัดนำร่อง 4 แห่ง ทำกิจกรรม 5ส ร่วมกับภาคเอกชนจนประสบความสำเร็จ และเมื่อเกิดเครือข่ายแล้ว สุดท้ายคือการสร้างความยั่งยืน ผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายปฏิบัติร่วมกัน พร้อมกับเปิดรับความรู้ใหม่ๆ และสื่อสารไปยังภาคีให้พัฒนาไปพร้อมๆ กันอยู่เสมอ

ด้าน ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า สช. จะร่วมกับ สสส. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และภาคีเครือข่าย ใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ปี 2560 เป็นเครื่องมือสร้างการสื่อสารระหว่างวัดกับชุมชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เป้าหมายของโครงการนี้นอกจากต้องการให้พระสงฆ์มีสุขภาพที่ดีแล้ว ยังคาดหวังให้วัดเป็นต้นแบบของชุมชน ใช้วิธีธรรมะนำโลก ซึ่งทาง สช. จะใช้ศักยภาพของเขตสุขภาพเพื่อประชาชนที่มีอยู่ทุกภูมิภาค ประสานให้ทุกฝ่ายได้มาพบปะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันต่อไป