ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ชู “ความร่วมมือศูนย์ควบคุมสารพิษสู่การเตรียมพร้อมในระดับภูมิภาค” ในการประชุมสมาคมประกันสังคมอาเซียน (ASSA) ประเทศบูรไน นานาประเทศยกย่องผลงานเด่นด้านพัฒนาหลักประกันสุขภาพ พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างหลักประกันสังคมระหว่างองค์กรประกันสังคมอาเซียน สู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สปสช. เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมการประกันสังคมอาเซียน (ASEAN Social Security Association :  ASSA) ครั้งที่ 36 วันที่ 17 –18 กันยายน 2562 ณ The Rizqun International Hotel, กรุงบันดาร์ เสรีเบกาวัน ประเทศบูรไน หรือเนการาบรูไนดารุสซาลาม โดยมีผู้แทนองค์กรด้านประกันสังคมจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม โดยประเทศไทยมีผู้แทนจาก 3 องค์กร คือ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้าร่วม

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การจัดตั้งสมาคมการประกันสังคมอาเซียน เริ่มขึ้นโดยการเห็นพ้องกันระหว่างสถาบันประกันสังคมอาเซียน 4 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย โดยจัดการประชุมหารือกันอย่างไม่เป็นทางขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2538 เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาระบบประกันสังคมในภูมิภาคให้มีความมั่นคง และนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงสมาคมการประกันสังคมอาเซียน และการประชุมผู้บริหารสมาคมการประกันสังคมอาเซียน ครั้งที่ 1 ณ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2541 ปัจจุบันสมาคมการประกันสังคมอาเซียนประกอบด้วยองค์กรสมาชิก 19 องค์กรจากทั้ง 10 ชาติอาเซียนเข้าร่วมเป็นสมาชิก

ทั้งนี้ในการประชุมสมาคมการประกันสังคมอาเซียนปีนี้ ได้กำหนดหัวข้อการประชุมเรื่อง “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร: เพิ่มขีดความสามารถนวัตกรรมหลักประกันด้านความมั่นคงทางสังคม” (ICT: Empowering Innovative Social Security) โดยประเทศไทยได้ร่วมนำเสนอในเรื่อง ความร่วมมือศูนย์ควบคุมสารพิษสู่การเตรียมพร้อมในระดับภูมิภาคของการจัดการพิษ  (Thailand Poison Control Center to Regional Preparedness of Poisoning Management) ซึ่งเป็นความร่วมมือประเทศไทยและองค์การอนามัยโลกสำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก (World Health Organization, South-East Asia Region Office : WHO-SEARO) ได้เข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนจากผลสำเร็จของประเทศไทย เพื่อให้ประเทศเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้จัดทำระบบภายใต้โครงการ iCAPS (Initiation for Coordinated Antidotes Procurement in the South-East Asia region) หรือโครงการการริเริ่มการจัดหายาต้านพิษในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจะขยายต่อไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนในเร็วๆนี้

นอกจากนี้ในส่วนการจัดกิจกรรมก่อนการประชุม สปสช.ได้ร่วมนำเสนอผลงานความสำเร็จในโครงการเข้าถึงยากำพร้าและยาต้านพิษของประเทศไทย (The Thai National Antidote Project) ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานเด่นในด้านการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพขององค์กรประเทศสมาชิก   

“การประชุมในครั้งนี้ เป็นเวทีในการแสดงความมุ่งมั่นขององค์กรสมาชิกในการพัฒนาระบบประกันสังคมในภูมิภาคอาเซียน อันนำไปสู่ความร่วมมือด้านวิชาการ การบริหารงานระบบบริการเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม สาธารณสุขและระบบหลักประกันสุขภาพ โดยเหล่าสมาชิกสมาคมการประกันสังคมอาเซียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ ส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม ของประเทศไทยของประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไป” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมการประกันสังคมอาเซียน ครั้งที่ 36 ประธานสมาคมฯ ปัจจุบัน Mr.Nguyen Thi Minh, Vice Minister, Director General, Vietnam Social Security System หรือผู้ช่วยรัฐมนตรี และผู้อำนวยการใหญ่ประกันสังคม ประเทศเวียดนามจะส่งมอบตำแหน่งประธานสมาคมฯ ให้แก่องค์กรสมาชิกประเทศบรูไน เพื่อดำเนินการจัดกิจกรรมของสมาคม ASSA ในปีต่อไป