ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. ส่งแพทย์รุ่นใหม่จากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท 1,059 คน ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ชนบทห่างไกลทั่วประเทศตามภูมิลำเนา ช่วยเติมเต็มแพทย์ในระบบ ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานมอบสัมฤทธิบัตรแก่บัณฑิตแพทย์ โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ประจำปีการศึกษา 2566 จำนวน 1,059 คน ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ จำนวน 15 แห่ง และศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก จำนวน 37 แห่ง 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาเรื่องการกระจายตัวของแพทย์ที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทห่างไกล สธ. จึงร่วมมือกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เพื่อช่วยเติมเต็มแพทย์ในระบบบริการสุขภาพของไทย โดยคัดเลือกเด็กนักเรียนในพื้นที่ชนบทให้รับทุนจาก สธ. เข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เป็นระยะเวลา 6 ปี

ทั้งนี้ นักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก ปีที่ 1-3 จะศึกษาในคณะแพทยศาสตร์คู่ความร่วมมือ ส่วนชั้นคลินิก ปีที่ 4-6 ศึกษาที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป สังกัด สธ. ซึ่งภายหลังสำเร็จการศึกษา บัณฑิตแพทย์ทุกคนจะต้องกลับไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตามพื้นที่ภูมิลำเนา ในเขตบริการสุขภาพ 12 แห่ง อย่างน้อย 3 ปี หรือ 12 ปี

สำหรับปีการศึกษา 2566 มีผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท จำนวนทั้งสิ้น 1,059 คน จะกระจายไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในส่วนภูมิภาค ดังนี้ 
- ภาคเหนือ 133 คน 
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 398 คน 
- ภาคกลาง 188 คน 
- ภาคตะวันออก 79 คน 
- ภาคตะวันตก 43 คน 
- ภาคใต้ 218 คน 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ในช่วง 29 ปีที่ผ่านมา มีแพทย์สำเร็จการศึกษาไปแล้วทั้งสิ้น 23 รุ่น รวม 13,780 คน ทั้งนี้ สธ. ยังได้เตรียมการผลิตแพทย์เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของประเทศในอนาคต โดยจะยกระดับโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปใน 76 จังหวัด ให้เป็นศูนย์บริการทางวิชาการและแหล่งเรียนรู้ทางการศึกษา ครอบคลุมทั้ง 12 เขตบริการสุขภาพทั่วประเทศ เพื่อผลิตแพทย์รองรับการขยายบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศด้วย