ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตัวแทนกลุ่มคอมโควิด ระบุ ช่วงโควิดระบาดหนักใน กทม. พบปัญหาหน่วยบริการไม่เพียงพอ การตรวจเชิงรุกของแพทย์ชนบทช่วงแรกไม่ใช่อยากทำก็ทำแต่เป็นการทำงานแข่งกับเวลา-วิกฤติ ด้านประชาชนพอใจช่วยเข้าถึงบริการและไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง


นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนกลุ่มคอมโควิด (Com-Covid) เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า จากการทำงานร่วมทีมแพทย์ชนบทในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นการทำงานในภาวะวิกฤต เนื่องจากเห็นปัญหาว่าหน่วยบริการใน กทม. ไม่สามารถรับมือกับจำนวนการระบาดที่มากขึ้น ซึ่งชมรมแพทย์ชนบทก็ได้มีการระดมกำลังที่พร้อมเข้ามาช่วยในการตรวจเชิงรุกในครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในช่วงแรกอยู่บนฐานวิธีคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้ว่าติดเชื้อได้เร็วที่สุด เพื่อที่จะประเมินอาการออกเป็นกลุ่มสี และสามารถดำเนินเข้ารับการรักษาได้ ซึ่งก็พบว่าในขณะนั้นการที่ประชาชนจะได้รับการตรวจคัดกรองหาเชื้อมีความยากลำบาก แม้ว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะจ่ายค่าตรวจให้ แต่หน่วยบริการมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในชุมชน ซึ่งชมรมแพทย์ชนบทก็อยากจะช่วยแก้ปัญหาจึงมีการพูดคุยและเกิดเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วกระจายลงชุมชนในแต่ละจุดเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจได้เร็วที่สุด และค่อยมาประเมิณกลุ่มสีว่าจะต้องดูแลอย่างไร

“ในภาวะวิกฤตแบบนั้นผมว่าต้องขอบคุณพวกเขาด้วยซ้ำไปที่ริเริ่ม และกล้าพอที่จะทำแบบนี้ขึ้นมา ถ้าในครั้งแรกชมรมแพทย์ไม่มาผม ไม่รู้ว่าจะคลี่คลายวิกฤตในกรุงเทพฯ ครั้งนั้นอย่างไร เราก็เห็นอยู่ว่ารถพระราชทานที่ไปตระเวนตรวจในแต่ละจุด หรือการตรวจเชิงรุกของหน่วยบริการสาธารณสุขนั้นไม่พอกับขนาดของปัญหาที่มันใหญ่” นายนิมิตร์ ระบุ

นายนิมิตร์ กล่าวว่า สำหรับการดูแลผู้ติดเชื้อที่บ้านด้วยตนเองช่วงแรกยังมีความไม่ชัดเจน เนื่องจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ระบุว่าหากติดเชื้อจะต้องเข้ารักษาที่หน่วยบริการ ซึ่งก็เกิดปัญหาแออัด ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการ และไม่มีเตียงเพียงพอที่จะรองรับ ส่งผลมีการผลักดันและเปิดประเด็นพูดคุยถึงระบบการดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation : HI) และการดูแลตัวเองในชุมชน (Community Isolation : CI) 80% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดเป็นอาการกลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการรุนแรง ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่เข้ามาตรวจว่าถ้าอาการไม่รุนแรงก็สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ เพื่อที่จะได้มีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง จนนำมาสู่การให้การรักษาที่เร็วหากเป็นผู้ป่วยสีเขียว หรือสีเหลืองที่มีอาการด้วยการให้ประชาชนเข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์

อย่างไรก็ดี จากการแลกเปลี่ยนและผลักดันเรื่องระบบ  HI และ CI ส่งผลให้กรมการแพทย์ยอมรับ และ สปสช. ก็เข้ามากำหนดวิธีการสนับสนุน มีการจับคู่หน่วยบริการ เพราะการทำ HI ไม่ใช่การปล่อยผู้ป่วยไว้ที่บ้าน ต้องมีคนหรือหน่วยบริการคอยดูแลติดตามเหมือนอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งตอนนั้น สปสช. ก็ขยับเร็วในการกำหนดเกณฑ์การจ่ายเงินสำหรับการให้บริการผู้ป่วย ซึ่งการทำงานแม้จะดูเหมือนต่างคนต่างทำ แต่ก็มีการประสาน แลกเปลี่ยน พูดคุยกันอยู่ตลอด

นายนิมิตร์ กล่าวต่อไปว่า เสียงตอบรับของประชาชนทุกคนรู้สึกดีที่ลงมาช่วยทำให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มสีเหลืองเข้ม สีแดง ซึ่งก็ทำให้เกิดรูปแบบพัฒนาขั้นตอนการรักษาที่ดีขึ้น และทำให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง

ทั้งนี้ ต้องขอบคุณชมรมแพทย์ชนบทที่ตัดสินใจเข้ามา ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เห็นภาพว่าระบบบริการสาธารณสุขใน กทม. จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขในภาวะวิกฤต รวมไปถึงทำให้เห็นว่าในการแก้ปัญหาวิกฤตสาธารณสุขไม่ใช่เฉพาะบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และคนในวงการสาธารณสุขเท่านั้น ต้องรวมถึงชุมชนด้วย เพราะถ้าเอาชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาก็จะมีโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จมากขึ้น

“ที่สำคัญก็คือการใช้มาตรการทางการเงินเพื่อที่จะทำให้ไม่ติดขัดในเรื่องของการเข้าถึงการรักษาก็มีความสำคัญเพราะฉะนั้นผมว่าเราโชคดีที่จังหวัดต่างๆ มาแมทช์กันก็เลยทำให้วิกฤตที่เกิดขึ้นได้รับการดูแลแก้ได้อย่างเป็นระบบ” นายนิมิตร์ กล่าว