ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายนักสาธารณสุข เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ติดตามความก้าวหน้าสายงาน-วิชาชีพ ที่ล่าช้ากว่ากรอบเวลาตามที่ สป.สธ. แจ้งไปแล้วกว่า 2 เดือน


เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2567 ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามแนวทางการเปลี่ยนสายงานนักสาธารณสุข และความก้าวหน้าของสายงานและวิชาชีพ ที่มีความล่าช้ากว่ากรอบเวลา (Timeline) ที่กองบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) เคยแจ้งไว้ โดยมี นายฉลองกรุง ภคกุล หัวหน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เป็นผู้รับหนังสือ

สำหรับสาระสำคัญในหนังสือดังกล่าว ระบุว่า ด้วยคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีมติเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2566 ให้กำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข เป็นวิชาชีพเฉพาะ รวมทั้งตามมติ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2566 ได้เห็นชอบสายงานนักสาธารณสุข ในโครงสร้างการบริหารส่วนภูมิภาค สป.สธ. และมีกรอบเวลาจากกองทรัพยากรบุคคลว่าจะมีหนังสือเวียนจาก สธ. การเปลี่ยนสายงานนักสาธารณสุขให้หน่วยงานในสังกัดภายในเดือน ม.ค. 2567 นั้น

หนังสือดังกล่าวระบุว่า บัดนี้เข้าสู่เดือน มี.ค. 2567 แล้ว ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องหนังสือเวียนการเปลี่ยนสายงานนักสาธารณสุขจาก สธ. แต่อย่างใด รวมทั้งยังไม่มีความชัดเจนในการเปลี่ยนสายงานเป็นนักสาธารณสุข ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เช่นกัน ซึ่งความล่าช้าและไม่ชัดเจนดังกล่าวทำให้กระทบสิทธิและความก้าวหน้าของผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนในการเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุข และส่งผลต่อขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของบุคลากรต่อไป

ดังนั้นชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) และเครือข่ายนักสาธารณสุข 4 ภาค จึงขอติดตามหนังสือเวียนการเปลี่ยนสายงานนักสาธารณสุข และความก้าวหน้าของสายงานและวิชาชีพ ในประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย 1. ขอความชัดเจนกรอบเวลา (Timeline) ในการดำเนินการเปลี่ยนสายงานของผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ในการเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุข และเร่งรัดหนังสือเวียนการเปลี่ยนสายงานเป็นนักสาธารณสุข ทั้งในสังกัด สธ. และ มท. โดยเร็ว เพื่อมิให้กระทบสิทธิและความก้าวหน้าของบุคลากร

2. ขอให้เร่งรัดการออกหลักเกณฑ์ เงื่อนไข แนวทาง การปรับตำแหน่งและเกื้อกูลสายงานทั่วไป ในบุคลากรที่มีวุฒิปริญญาตรี และมีใบประกอบวิชาชีพสาธารณสุข เข้าสู่สายงานวิชาการในตำแหน่งนักสาธารณสุขทั้งสังกัด สธ. และ มท.

3. ขอให้มีการปรับตำแหน่งและเกื้อกูลสายงาน นักวิชาการสุขาภิบาล นักวิชาการสิ่งแวดล้อม นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพ ในสังกัด มท. ที่มีใบประกอบวิชาชีพ สู่สายงานนักสาธารณสุข รวมทั้งขอให้พิจารณาแนวทางสำหรับผู้ทีเคยดำรงตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข แต่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอื่น เช่น นักวิเคราะห์แผนและนโยบาย นักจัดการงานทั่วไป นักทรัพยากรบุคคล ฯลฯ ในสังกัด สธ. และ มท. แต่ยังมีใบประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ให้สามารถเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขด้วย

4. ขอให้ดำเนินความก้าวหน้าของทุกสายงานอย่างเป็นธรรม โดย 1) ติดตามการดำเนินงาน ว.2 ชำนาญการพิเศษ สายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของ 17 สายงาน ในสังกัด สธ. (เนื่องจากมีการเว้นวรรคมาหลายปี) 2) ขอให้พิจารณาขยายการจัดสรรตำแหน่งชำนาญการพิเศษ ของสายงานนักวิชาการสาธารณสุข/นักสาธารณสุข ในสังกัด สธ. เช่นเดียวกับนโยบายการปรับตำแหน่งชำนาญการพิเศษหมื่นตำแหน่ง ของสายงานพยาบาลวิชาชีพ 3) ขอให้ สธ. พิจารณากรอบอัตรากำลังผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ชำนาญการพิเศษ ใน รพ.สต. สังกัด สธ.ทุกแห่ง เช่นเดียวกับใน รพ.สต. สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

5. ขอให้ สธ. ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ความก้าวหน้า ของบุคลากรสาธารณสุขทุกสายงาน ให้สามารถมีช่องทางความก้าวหน้าในการเติบโต เช่นเดียวกับความก้าวหน้าของบุคลากรในกระทรวงอื่น โดยไม่มีข้อจำกัดด้านวิชาชีพ

6. ขอให้ดำเนินการ เร่งรัดให้สายงาน นักสาธารณสุข เป็นสายงานที่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข (พ.ต.ส.) ทั้งในสังกัดสธ. และ มท.

7. ขอให้ปรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข แนวทาง การบรรจุสายงานนักสาธารณสุข ในสังกัด สธ. เป็นสายงานสอบคัดเลือก แทนสายงานสอบแข่งขัน รวมทั้งขอความชัดเจนในการบรรจุบุคลากรที่ปฏิบัติงานโควิด รอบ 2 ทั้งในสังกัด สธ. และ มท.

1

4

3

2