ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับตั้งแต่ต้นปี 2562 เป็นต้นมา มีไม่ต่ำกว่า 2 ระลอกใหญ่ ๆ ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบ “ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์” ให้กับผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองราว 50 ล้านชีวิต

การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์เหล่านั้น นอกจากจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้สิทธิบัตรทองได้รับการยกระดับขึ้น ยังถือเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ที่มีความคุ้มค่าเป็นอย่างมาก

แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ทุก ๆ สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น ย่อมหมายถึงจำนวนเม็ดเงิน-งบประมาณที่ไม่น้อย ดังนั้นการมติของบอร์ด สปสช. จึงต้องตั้งอยู่บนความจำเป็น ข้อมูลและหลักฐานทางวิชาการ พิจารณาความเป็นไปได้บนผลการศึกษาและความคุ้มค่าทางเศรษฐานะ

สำหรับการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ระลอกแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562 โดยที่ประชุมบอร์ด สปสช.ได้เห็นพ้องร่วมกันถึง 5 รายการใหญ่

ประกอบด้วย 1. ขยายสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตในกลุ่มผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ 2. นำร่องการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ทุกอายุ 3. เพิ่มรายการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับบ้าน (One Day Surgery) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อีก 12 รายการ (รวมเป็น 24 รายการ) 4. ให้ใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ จ 2 (ยาราคาแพง) เพิ่มอีก 4 รายการ 5. ขยายบริการตรวจคัดกรองยีนเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง สำหรับผู้ป่วยที่ต้องเริ่มรักษาด้วยยา carbamazepine ในทุกกรณี

นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับชุดบริการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากร อายุ 50-70 ปี ให้สะดวกมากขึ้น เพิ่มการผ่าตัดผ่านกล้องและอุปกรณ์ทันสมัยให้มีแผลผ่าตัดที่เล็กลงและหายกลับบ้านได้เร็วขึ้น เพิ่มเครื่องตรวจติดตามค่าน้ำตาลในเลือดให้ผู้ป่วยเบาหวานเด็ก

ขณะเดียวกัน จะมีการปรับระบบแพทย์ประจำครอบครัวใหม่ ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงทุกกลุ่มอายุที่จะครอบคลุมถึงผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมจากความร่วมมือหน่วยบริการในพื้นที่ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตลอดจนการเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทยมากขึ้น

การพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในระบบบัตรทองได้เคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดนิ่ง จนมาถึงการประชุมบอร์ด สปสช. ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ครั้งใหญ่เป็น ระลอกสอง โดยมีด้วยกันอีก 4 รายการสำคัญ และหนึ่งในนั้นนับเป็นความก้าวหน้าในการป้องกันเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในประเทศไทย

นั่นก็คือ เห็นชอบให้มีการนำร่องบริการป้องกันการติดเชื้อก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (Pre-Exposure Prophylaxis หรือ PrEP) ในกลุ่มเสี่ยงสูงทุกกลุ่ม และให้มีการวิจัยประเมินผลเพื่อติดตามปัจจัยความสำเร็จในการป้องกันโรคและลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ด้วย

สิทธิประโยชน์ดังกล่าว เป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า PrEP เป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้กับผู้มีความเสี่ยงสูง ควบคู่ไปกับการป้องกันที่มีอยู่เดิม ซึ่งเดิมประเทศไทยได้ให้บริการ PrEP เฉพาะบางพื้นที่โดยการสนับสนุนหลักจากหน่วยงานต่างประเทศ แต่ยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงสูงทั้งหมด

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. อธิบายว่า ผลการศึกษาของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) พบว่าเมื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์โดยพิจารณาร่วมกับเป้าหมายยุติปัญหาเอดส์ในปี 2573 การให้บริการ PrEP ในทุกกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีประมาณ 245,000 คน นับว่ามีความคุ้มค่า เพราะสามารถช่วยลดอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้ต่ำกว่า 1,000 รายต่อปีได้ แต่ทั้งนี้ต้องใช้งบประมาณ 405 ล้านบาทต่อปี

มากไปกว่านั้น สปสช.ยังได้จัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของการรณรงค์การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ถุงยางอนามัย และการตรวจและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย

นอกจากการหยุดยั้งเชื้อเอชไอวี/เอดส์แล้ว ยังมีสิทธิประโยชน์อีก 3 รายการที่บอร์ด สปสช.เห็นชอบ นั่นก็คือปรับปรุงชุดบริการผู้ป่วยวัณโรค ตามแนวทางการควบคุมวัณโรคประเทศไทย พ.ศ. 2561 เพื่อลดอุบัติการณ์วัณโรค และในประเด็นการค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงวัณโรคนั้น จะเน้นกลุ่มผู้สัมผัสวัณโรคและผู้ต้องขัง

และขยายบริการการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตสำหรับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และเห็นชอบให้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA test เป็นบริการทดแทนการตรวจคัดกรองแบบดั้งเดิม (Pap smear) เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของบริการตรวจคัดกรองและเป็นไปตาม Guideline ฉบับปรับปรุง เดือนกันยายน 2561 ของราชวิทยาลัยฯ

สำหรับสิทธิประโยชน์ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การรักษาผู้ป่วยนอก-การรักษาผู้ป่วยใน ที่ได้ผ่านการพิจารณาในปี 2562 นี้ จะเดินหน้าอย่างเต็มรูปแบบและครบถ้วนได้ภายในปี 2563

 

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 3 กันยายน 2562