ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โฆษก สปส. แจง ‘สิทธิทันตกรรม’ ไม่ด้อยกว่า ‘สิทธิบัตรทอง – สวัสดิการข้าราชการ’ ชูจุดเด่น ‘รับบริการคลินิกเอกชนที่ไหนก็ได้ – ไม่ต้องนัดล่วงหน้า - ไม่ต้องสำรองจ่าย’ เผย 900 บาทต่อปี คิดจากราคาเฉลี่ย - อัตราการใช้บริการต่อปีของผู้ประกันตน พร้อมเผยสถิติการเข้าถึงบริการทำฟัน ผู้ประกันตนดันดับหนึ่ง


จากกรณีที่มีการพูดถึงประเด็นที่ผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมใช้สิทธิเบิกค่ารักษาทันตกรรมที่จำเป็นได้น้อย และไม่ครอบคลุมชนิดของบริการและค่าใช้จ่ายที่จำเป็น แตกต่างจากกว่าประชาชนทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ทั้งที่ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียว ที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือนนั้น

ล่าสุด นางนิยดา เสนีย์มโนมัย โฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสิทธิทันตกรรมของ สปส. เป็นสิทธิเดียวในสามกองทุนสุขภาพที่สามารถเข้ารับบริการได้ในสถานพยาบาลหรือคลินิกเอกชน ที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ สามารถรับบริการได้ทันที ไม่ต้องมีการนัดหมายล่วงหน้า ไม่ต้องสำรองจ่าย โดยสปส. ได้มีการปรับค่าบริการกรณีทันตกรรมจากเดิม 600 บาท เป็น 900 บาท โดยสำรวจราคาจากสถานพยาบาล ที่ให้บริการทันตกรรม ทั้งภาครัฐและเอกชน และอัตราการใช้บริการเฉลี่ยต่อปีของผู้ประกันตน 

นอกจากนี้ สปส. ยังให้สิทธิผู้ประกันตนที่ต้องเข้ารับบริการด้านสุขภาพช่องปากที่จำเป็นหรือประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับช่องปาก ซึ่งถือเป็นการรักษาพยาบาลอย่างหนึ่ง ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาลตามสิทธิโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และ สปส. ได้มุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง

เช่น ในปี 2549 สปส. เคยปรับระบบให้ผู้ประกันตนสามารถใช้บริการทันตกรรม ในสถานพยาบาลตามสิทธิ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนเกิน แต่ผลลัพธ์คือ ผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงสิทธิ รอคิวนานโดยเสียงส่วนใหญ่ของผู้ประกันตนเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมกลับมาจัดบริการในลักษณะกำหนดวงเงิน แต่ไปรับบริการที่ไหนก็ได้

นางนิยดา กล่าวต่อไปว่า กระทั่งในปี 2566 ที่ผ่านมา มีสถานพยาบาลที่ทำความตกลงร่วมกับ สปส. กว่า 1.3 หมื่นแห่ง ในขณะที่สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพอื่น จะต้องใช้บริการในหน่วยบริการของรัฐ ถึงแม้ว่าจะไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก และต้องมีการนัดหมายล่วงหน้า รวมถึงต้องเข้ารับบริการในเวลาราชการเท่านั้น 

ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจการเข้ารับบริการสุขภาพช่องปากของคนไทย โดยสำนักสถิติแห่งชาติ (สสช.) ที่ได้ร่วมกับ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เข้าถึงบริการด้านทันตกรรมมากกว่าสิทธิบัตรทอง และเมื่อเปรียบเทียบการใช้สิทธิของแต่ละกองทุน พบว่า ผู้ประกันตนมีการใช้สิทธิมากที่สุด 

มากไปกว่านั้น ในปี 2566 มีผู้ประกันตนใช้บริการในสถานพยาบาลหรือคลินิกเอกชนสูงถึง 90% และรับบริการในสถานพยาบาลของรัฐเพียง 10% เท่านั้น และในปี 2567 นี้ สปส. ยังมีโครงการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ โดยจัดให้มีรถทันตกรรมเคลื่อนที่ที่มีมาตรฐานตามที่ สธ. กำหนด ลงพื้นที่ให้บริการแก่ผู้ประกันตนในสถานประกอบการเพื่ออำนวยความสะดวกเพิ่มการเข้าถึงการบริการทันตกรรมอย่างมีคุณภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาใช้บริการของผู้ประกันตนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สปส. ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาที่มีคุณภาพครอบคลุมทุกโรค ให้มากที่สุดให้กับผู้ประกันตนอย่างทั่วถึง สปส. มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสิทธิการรักษาพยาบาลให้กับผู้ประกันตนในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและการดำเนินชีวิตของผู้ประกันตน 

โฆษก สปส. กล่าวว่า ดังนั้น ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจว่า สปส. พร้อมดูแลสุขภาพของผู้ประกันตน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศต่อไป โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สปส. กรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่งทั่วประเทศ และที่สายด่วน 1506