ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. ระบุ คณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่จะเสริมการทำงานท้องถิ่นภายใต้ ม.47 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ให้ชัดขึ้น ปิดช่องว่าง-เสริมระบบหลักประกันท้องถิ่น-ดูแลสุขภาพชุมชน พร้อมตั้ง 2 คณะทำงานดูแลกฎ ระเบียบ-สุขภาพชุมชน พัฒนาระบบหลักประกันในพื้นที่-ทบทวนข้อติดขัด เอื้อความสะดวกท้องถิ่นดูแลสุขภาพประชาชน


นพ.เติมชัย เต็มยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำกับดูแลกลุ่มภารกิจสนับสนุนการจัดระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น เปิดเผยกับ “The Coverage” ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 ตอนหนึ่งว่า คณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น หรือพื้นที่ ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จะเข้ามาดำเนินการสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ของทั้ง 3 กองทุน ได้แก่ 1. กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ (กปท.) 2. ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน (LTC) และ 3. กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด (กองทุนฟื้นฟูจังหวัด) เพื่อให้การทำงานภายใต้ มาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

นพ.เติมชัย กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาการดำเนินงานตามมาตรา 47 จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การทำงานของท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่ก็ยังพบความไม่ชัดเจนบางส่วนในการดำเนินงาน ฉะนั้นภายใต้คณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ จะพูดเรื่องขอบเขต แนวทางการจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นให้ชัดเจนขึ้น รวมถึงจะเข้าไปตอบสนอง หรือแก้ไขปัญหาในการดำเนินการในส่วนต่างๆ

1

อย่างไรก็ดี บทบาทของคณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ จะเข้ามาช่วยปิดช่องว่าง หรือข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่ผ่านมาของทั้ง 3 กองทุน มากไปกว่านั้นจะเข้าไปเสริมระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นในพื้นที่ให้ชัดเจนมากขึ้น และดูแลระบบสุขภาพชุมชนซึ่งเป็นบทบาทของทุกภาคส่วนที่อยู่ในพื้นที่ในการร่วมกันผลักดัน ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อีกระดับ รวมถึงการพัฒนา เสริมสร้างความเข้มแข็งของบุคลากรในพื้นที่ทุกภาคส่วนสำหรับการทำงานเรื่องระบบสุขภาพท้องถิ่นอีกด้วย

นอกจากนี้ ในที่ประชุมก็ยังมีมติเห็นชอบ ตั้งคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ 2 ชุด ได้แก่ 1. คณะทำงานจัดทำกฎ ระเบียบ เพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยมี ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธาน และ 2. คณะทำงานด้านวิชาการ เพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยมี นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เป็นประธาน โดยคณะทำงานทั้ง 2 ชุดจะเข้ามาแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคเพื่อให้การดำเนินงาน หรือการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น

1

สำหรับคณะทำงานนั้นจะแต่งตั้งตามบทบาทหน้าที่ โดยชุดที่ 1 ว่าด้วยเรื่องระเบียบ กฎหมาย ซึ่งจะเข้ามาทบทวนระเบียบ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้สะดวกมากขึ้น ภายใต้หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน และยังเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพในพื้นที่ ในขณะที่ คณะทำงานชุดที่ 2 ที่จะเข้ามาทบทวนและสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการ เพื่อจัดทำข้อเสนอการจัดการระบบสุขภาพชุมชน หวังผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ฉะนั้น คณะทำงานทั้ง 2 ชุดจะทำงานเชื่อมกัน นำไปสู่ข้อเสนอการปรับปรุงที่จะเข้ามาพิจารณาในคณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต่อไป

“ส่วนตัวผมมองว่าสิ่งที่ควรจะต้องแก้ไขเร่งด่วน คือข้อจำกัดต่างๆ ในการดำเนินงานของกองทุนทั้ง 3 กองทุนที่อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งที่ผ่านก็ได้มีการแก้ไขปัญหามาพอสมควร แต่อาจจะมีข้อจำกัดบางอย่างที่ต้องรีบแก้ไข ตรงนี้ผมว่าเป็นส่วนที่ต้องรีบดำเนินการ ซึ่งจะเป็นบทบาทของคณะทำงานชุดที่ 1 ที่ว่าด้วยเรื่องของกฎหมาย” นพ.เติมชัย กล่าว

นพ.เติมชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินการภายใต้คณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ ทางกระทรวงมหาดไทย (มท.) จะเข้ามาดำเนินการร่วมกัน เนื่องจากที่ผ่านมาก็ได้มีการทำงานเรื่องคุณภาพชีวิต หรือสุขภาพชุมชนอยู่แล้ว ขณะเดียวกันภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาชน ภาคเอกชน และกลไกต่างๆ ในระดับพื้นที่ หรือชุมชนก็จะเข้ามามีบทบาทร่วมด้วย

1