ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ลงพื้นที่ ต.ท่าตะเภา อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร เยี่ยมชมการจัดระบบบริการดูแลส่งเสริม พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยเทศบาลเมืองชุมพร ด้วยการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ หลังจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 23%


เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นางพนิต มโนการ ผอ.สปสช. เขต 11 สุราษฎร์ธานี และคณะ ลงพื้นที่ ต.ท่าตะเภา อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร เพื่อเยี่ยมชม “การจัดระบบบริการดูแลส่งเสริม พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการ” โดยใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ซึ่งเป็นกองทุนที่เทศบาลและ สปสช.สมทร่วมกัน มาหนุนเสริมการจัดระบบบริการ ซึ่งดำเนินการโดยเทศบาลเมืองชุมพร โดยมี นายวิบูลศักดิ์ โพธารส รองนายกเทศมนตรีเมืองชุมพร ให้การต้อนรับ ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงาน 

2

นายวิบูลศักดิ์ เปิดเผยว่า พื้นที่เขตเทศบาลเมืองชุมพรมีขนาด 21.1 ตร.กม. มีประชากรทั้งหมด 33,529 คน มีผู้สูงอายุกว่า 6,222 คน หรือเกือบ 23 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจำนวนสูงกว่าเกณฑ์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีการกำหนดไปแล้ว รวมถึงมีผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง 116 คน และจำนวนผู้พิการอีกราว 300 คน จากจุดนี้เองได้ผสานเข้ากับแนวคิดของเทศบาลที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแลประชากรกลุ่มนี้จึงได้พัฒนาระบบบริการที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตแบบครบวงจรให้กับประชาชนในพื้นที่ 

ทั้งนี้ ในภาพรวมของระบบบริการสำหรับคนในเขตเทศบาลเมืองชุมพร จะประกอบด้วย 1. ชมรมผู้สูงอายุ 1 ชมรมใหญ่ 17 ชมรมย่อยชุมชน 2. โรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลเมืองชุมพร 3. ศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิต 4. ศูนย์สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยในชุมชน 5. ศูนย์ธาราบำบัด (Hydrotherapy) 6. ศูนย์ให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน และ 7. โครงการดูแลระยะยาวผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care :LTC)

2

นายวิบูลศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า บริการต่างๆ เหล่านี้ที่เทศบาลจัดขึ้น ก็ได้การสนับสนุนจากงบ กปท. ของ สปสช. มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอบรมและจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ การตรวจคัดกรองโรคต่างๆ ตลอดจนในปีที่ผ่านมาคือการใช้ผ่านสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับ ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ติดบ้านติดเตียง 

ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ปัญหาของเทศบาลเมืองชุมพรที่มาดูในวันนี้คือต้องดูแลผู้สูงอายุจำนวนกว่า 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นการจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรงจึงเป็นหนึ่งในหลักการสำคัญของการจัดบริการสุขภาพของพื้นที่ ซึ่งที่นี่ก็ได้มีการจัดระบบบริการที่ค่อนข้างตอบโจทย์ และสอดคล้องกับสถานการณ์การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในพื้นที่ โดยมุ่งสร้างระบบบริการการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม ผ่านการบูรณาการจากหลายภาคส่วน ซึ่งยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

1

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อไปว่า งบประมาณจาก กปท. ของ สปสช. ก็ได้เป็นหนึ่งในกลไกที่มาช่วยหนุนเสริมการจัดบริการของเทศบาลเมืองชุมพรด้วยเช่นกัน เช่น ใช้ในการจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุ ในโรงเรียนผู้สูงอายุที่เทศบาลจัดตั้งขึ้น โดยจะมีนักเรียนที่เป็นผู้สูงอายุคลาสละ 200 คน ซึ่งนอกจากความรู้ที่พวกเขาจะได้แล้ว ยังสร้างการพบปะพูดคุย และการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งจะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดีของผู้สูงอายุด้วย

“งบประมาณของ สปสช. ที่มาหนุนเสริมที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ซึ่งเราจะมีวัตถุประสงค์ชัดเจน ดังนั้นแม้หากเทียบกับสัดส่วนที่เทศบาลใช้เพื่อจัดระบบบริการต่างๆ อาจจะไม่มาก แต่ก็เป็นหนึ่งในการสนับสนุนที่ สปสช. เราพอจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นได้” ทพ.อรรถพร กล่าว

2

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ