ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองนายก อบจ.กระบี่ ไม่เห็นด้วย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 หลังไม่พบการจัดสรรเงินเดือน-สวัสดิการบุคลากรที่ อบจ. บรรจุใหม่เพิ่มเติมตามกรอบโครงสร้างอัตรากำลัง ระบุ ยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายหลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.การกระจายอำนาจ-ประกาศ ก.ก.ถ.-พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ 


จากที่สำนักงบประมาณเปิดการรับฟังความคิดเห็นรอบที่ 2 ต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ผ่านเว็บไซต์สำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นร่างที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 และได้สิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2566 นั้น

นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ (อบจ.กระบี่) เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากพบว่าในเนื้อหาไม่มีการระบุถึงการจัดสรรงบประมาณให้กับ อบจ. สำหรับการจ้างข้าราชการที่เพิ่งบรรจุใหม่หลังการรับถ่ายโอนในปี 2566 ให้สอดคล้องกับโครงสร้างกรอบอัตรากำลังตามขนาดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่รับถ่ายโอนมา คือ ขนาดเล็ก 7 คน ขนาดกลาง 12  คนและ ขนาดใหญ่ 14 คน ซึ่งขณะนี้ทาง อบจ. ต้องรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่

ทั้งนี้ โดยในรายละเอียดการจัดสรรงบประมาณให้แก่ อบจ. กรณีรับถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้ระบุเฉพาะสำหรับบุคลากรที่เป็นข้าราชการที่ถ่ายโอนมาพร้อมกับ รพ.สต. เท่านั้น โดยเมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ อบจ. จะต้องใช้งบประมาณของ อบจ. เองในการจ้างบุคลากรให้สอดคล้องกับกรอบอัตรากำลัง ซึ่งอาจขัดกับประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เรื่องหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามันเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา นวมินทรราชินี (สอน.) และ รพ.สต. ให้แก่ อบจ. เมื่อปี 2564 

นอกจากนี้ ยังถือว่าไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 29 วรรคที่ 2 ซึ่งตรงนี้เป็น พ.ร.บ.ของสำนักงบประมาณเอง ที่ระบุว่าการจัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้เป็นไปตามที่กฎหมายการกระจายอำนาจระบุเอาไว้ โดยให้สำนักงบประมาณเป็นผู้จัดสรร และไม่ได้เขียนว่าให้ อบจ. ใช้งบประมาณตัวเอง 

รองนายก อบจ.กระบี่ กล่าวต่อไปว่า มากไปกว่านั้น ประเด็นดังกล่าวได้เคยมีการพูดคุยในการประชุม ก.ก.ถ. เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแล้วด้วย โดยตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้ระบุในที่ประชุมว่า ไม่ว่าบุคลากรที่จะปฏิบัติงานใน รพ.สต. มาจากส่วนไหน หากมาอยู่ในกรอบอัตรากำลังตามที่ประกาศ ก.ก.ถ. ระบุไว้ให้ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ภายใต้ภารกิจการถ่ายโอน และผู้แทนสำนักงบประมาณที่อยู่ในที่ประชุมก็ได้รับปากต่อที่ประชุมว่าจะไปดำเนินการให้เรียบร้อยไม่มีได้มีข้อโต้แย้งอะไร

“คำว่าการถ่ายโอนภารกิจมีองค์ประกอบอยู่ 4 อย่าง คือ การบริหารจัดการ คน เงิน และของ ต่อมาเมื่อ ก.ก.ถ. ประกาศเรื่องกรอบอัตรากำลัง 7, 12, 14 แล้ว ฉะนั้นไม่ว่าจะมาจากการรับถ่ายโอนฯ หรือการสอบบรรจุ หากมาลงในโครงสร้างกรอบ 7, 12, 14 ก็ถือเป็นภารกิจถ่ายโอนฯ” รองนายก อบจ.กระบี่ ระบุ 

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวก็ได้มีการแสดงความคิดเห็นไปแล้วว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ขัดต่อกฎหมายในหลายฉบับ ฉะนั้นอยากจะขอให้ทางสำนักงบประมาณปรับปรุง ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย โดยจะออกกฎหมายมาลิดรอนหรือขัดแย้งกฎหมายฉบับอื่นไม่ได้ ซึ่งหากไม่ดำเนินการ ทาง สมาคม อบจ. และ อบจ. ที่ได้รับผลกระทบ ก็คงจะมีการดำเนินการตามช่องทางของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น การร้องต่อศาลปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อไม่ให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร หลังจากส่งร่าง พ.ร.บ. กลับเข้า ครม. อีกครั้งในวันที่ 12 ธ.ค. 2566 นี้ 

“บาง อบจ. รับถ่ายโอนมาทั้งจังหวัด แต่บุคลากรมาไม่ครบ บางที่มาเฉพาะตัว รพ.สต. บุคลากรไม่มา อบจ.ก็ต้องจ้างคนใหม่ แบบนี้ถ้าจะให้ อบจ.จ่ายเงินเอง ถามว่า อบจ.จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายและจะไปมีผลกระทบไปถึง พรบ.บริหารงานบุคคลท้องถิ่น มาตรา 35 ที่บังคับไม่ให้ อบจ.ใช้งบบุคลากรเกิน 40 % ของงบรายจ่ายประจำปีอีกด้วย นี่คือปัญหาข้อใหญ่” นายกิตติชัย กล่าว