ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคม อบจ. เผย แผนนำร่อง “อบจ. 10 จว” เป็นต้นแบบ สะท้อนการจัดการปัญหา-จัดจ้างอัตรากำลังวิชาชีพตามกรอบอัตรากำลังหลังถ่ายโอน พร้อม “เขียนคู่มือหลังการถ่ายโอน” เป็นหลักปฏิบัติสำหรับ อบจ. ในการดูแล รพ.สต. เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 


ดร.ภูนท สลัดทุกข์ รักษาการเลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ภายหลังมีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มาให้กับ อบจ. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้การวางนโยบายในการคัดเลือก อบจ. จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ น่าน สุโขทัย เพชรบูรณ์ ระยอง ปราจีนบุรี ปัตตานี สกลนคร อุบลราชธานี ลำปาง และกำแพงเพชร ในการทดลองเพื่อพัฒนามาเป็นต้นแบบการบริหารจัดการหลังการถ่ายโอน รวมถึงการจ้างบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาเป็นข้าราชการท้องถิ่นตามกรอบอัตรากำลัง 7, 12, 14 ภายใต้กองสาธารณสุขของ อบจ. แต่ละจังหวัด

ทั้งนี้ การจ้างบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาเป็นข้าราชการท้องถิ่นนั้น ไม่ได้มีแค่แพทย์เพียงวิชาชีพเดียว แต่รวมไปถึงบุคลากรในวิชาชีพอื่นๆ ด้วย เช่น ทันตแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด ฯลฯ เพื่อเติมบุคลากรให้เต็มตามกรอบอัตรากำลังของ อบจ. แต่ละขนาดโดยยึดตามแนวทางเดิมของ รพ.สต. 

ดร.ภูนท กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์ที่ใช้เลือก อบจ. มาเป็นต้นแบบมีปัจจัยอยู่ 3 ด้านด้วยกัน ประกอบด้วย 1. นายก อบจ. มีวิสัยทัศน์ และมีใจในการพัฒนา 2. ข้าราชการประจำมีแนวคิดสอดคล้องกับนายก อบจ. และ 3. ไม่มีความขัดแย้งในพื้นที่ระหว่างท้องถิ่น และสาธารณสุข เช่น สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รวมถึงการมีผลสัมฤทธิ์ หรือตัวชี้วัดเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนเพื่อเป็นต้นแบบ ให้แก่จังหวัดที่เหลือสามารถนำไปปรับและประยุกต์ใช้ได้ตามบริบทพื้นที่ของตัวเอง

ส่วนเหตุที่ต้องเลือกต้นแบบถึง 10 จังหวัดนั้น เนื่องจากการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ในแต่ละพื้นที่จะมีบริบท กติกา หรือปัญหา อุปสรรคที่แตกต่างกันออกไป จึงไม่สามารถใช้ต้นแบบเพียงแห่งเดียวแล้วจะทำให้การแก้ไขงานบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพได้สำเร็จ

“จึงคิดว่าจะเอา อบจ. 10 แห่งเป็นต้นแบบ เพื่อสร้างรูปแบบในการจ้างแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ตามกรอบอัตรากำลัง ซึ่งท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.กระทรวงมหาดไทย (มท.). และท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัด มท. ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูเรื่องนี้ โดยท่านศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้หารือร่วมกับสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเพื่อออกแบบรูปแบบที่เอื้อต่อการจัดกรอบอัตรากำลังใหม่” ดร.ภูนท ระบุ 

ดร.ภูนท กล่าวต่อไปว่า ทั้งหมดนี้จะช่วยเสริมให้ในภาพใหญ่ของการให้บริการด้านสาธารณสุขเกิดประสิทธิผลหลังจากการถ่ายโอน และช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการบริการสาธารณะแนวใหม่ (New Public Service: NPS) โดยเฉพาะงานบริการด้านสาธารณสุขให้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบริบทใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีการจัดจ้างบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ชัดเจน สถ. จึงได้กำหนดกรอบอัตรากำลังดังกล่าวขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางให้แก่ อบจ. ที่รับถ่ายโอน ภายใต้กรอบอัตรากำลังใหม่นี้มีหน้าที่ อำนาจ และภารกิจที่ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของภาคประชาชนที่เกิดความ เสมอภาค เท่าเทียม ครอบคลุม และทั่วถึงทุกมิติ

ดร.ภูนท กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ทาง สถ. สมาคม อบจ.ฯ และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันเขียนคู่มือหลังการถ่ายโอนภารกิจถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ภายใต้กฎหมายจัดตั้ง อบจ. ตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 4 พ.ศ. 2552 และ พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2562 ฉบับที่ 5 เพื่อเป็นกรอบแนวทางปฏิบัติสำหรับ อบจ. และ รพ.สต. ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยจะมีแนวทางของ อบจ. 10 จังหวัดต้นแบบ เข้าไปอยู่ในคู่มือฉบับนี้เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย ฉะนั้นแนวทางหลังการถ่ายโอนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนางานบริการด้านสาธารณสุขทีเกิดผลสัมฤทธิ์

“สำหรับคู่มือการหลังการถ่ายโอนนี้ จะเป็นแนวปฏิบัติใหม่ หลังจากที่มีการถ่ายโอนภารกิจฯ ตามกฎหมายกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการระบุรายละเอียดว่า อบจ. จะบริหารจัดการดูแล รพ.สต. อย่างไร เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตอบโจทย์ การบริการสาธารณะแนวใหม่” ดร.ภูนท กล่าว 

อนึ่ง นโยบายการคัดเลือก อบจ. 10 จังหวัดมาเป็นต้นแบบนั้น เป็นไปตามแนวคิดของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สธ. ที่ได้ร่วมกับนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัด มท. นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดี สถ. นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายก อบจ.สุพรรณบุรี ในฐานะนายกสมาคม อบจ.ฯ นายชูพงศ์ คำจวง นายก อบจ.สกลนคร อุปนายกสมาคมปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสมาคม อบจ.ฯ โดยมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สมาคมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทยร่วมกันขับเคลื่อน