ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง เขตลาดกระบัง ปลื้มสายด่วน สปสช. 1330 แก้ปัญหารวดเร็ว หลังได้รับร้องเรียนผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเงินจาก รพ. ช่วยแก้ปัญหาทำให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ภายในวันเดียวกัน ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้เป็นตัวอย่างกลไกพิทักษ์สิทธิที่น่าชื่นชม


นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง ด้านแรงงานนอกระบบ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2566 ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง เขตลาดกระบัง ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกรณีที่ น.ส.พีรพร ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ได้ถูกโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินค่ารักษาจำนวน 16,000 บาท ก่อนที่จะมีการประสานงานร่วมกับทางสายด่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1330 และ สปสช. เขต 13 กทม. จนสามารถช่วยเหลือและยกเลิกการเรียกเก็บค่าบริการได้ภายในวันเดียวกัน

สำหรับความเป็นมาของกรณีดังกล่าว น.ส.พีรพร ได้เกิดอาการป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองแตก และเดินทางเข้ารับการรักษาฉุกเฉินในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งได้เข้ารับการผ่าตัดรักษาตัวตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย. - 11 ต.ค. 2566 โดยในวันสุดท้ายทางโรงพยาบาลได้แจ้งให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ และต้องเตรียมเงินเสียค่าส่วนเกินอีก 16,000 บาท แต่เมื่อทางผู้ป่วยไม่มีเงินจ่าย จึงได้ขอความช่วยเหลือจากแกนนำแรงงานนอกระบบในชุมชน ก่อนที่จะมีการประสานมาทางศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง เขตลาดกระบัง

นางสุจิน กล่าวว่า ภายหลังได้รับการขอความช่วยเหลือมานั้น ตนจึงได้เร่งประสานไปยังสายด่วน สปสช. 1330 รวมถึงเครือข่ายที่รู้จักต่างๆ ทั้งภายใน สปสช. ตลอดจนสภาองค์กรของผู้บริโภค จนกระทั่งมีการประสานไปทางโรงพยาบาล และในที่สุดก็ได้รับการแจ้งขอยกเลิกการเก็บเงินส่วนเกินจำนวนดังกล่าว ทำให้ญาติสามารถนำตัวผู้ป่วยกลับได้เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งกระบวนการช่วยเหลือทั้งหมดสามารถทำสำเร็จได้ภายในระยะเวลาเพียง 3-4 ชั่วโมง

นางสุจิน ยังกล่าวอีกว่า เคสนี้สามารถประสานและให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้เห็นว่าระบบของสายด่วน สปสช. 1330 ได้รับการพัฒนาขึ้นมาก ช่วยจบปัญหาได้ง่ายมากขึ้น จากปกติที่เคสร้องเรียนลักษณะนี้อาจต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน หรือเป็นสัปดาห์ ผู้ป่วยต้องลำบากในการวิ่งส่งเอกสารไป-มา โดยเฉพาะหากต้องจ่ายเงินไปก่อนนั้น หลายคนที่ไม่มีเงินเพียงพอต้องเกิดความเดือดร้อน ไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อจ่ายค่าบริการ

"ในหลายเคสที่ผู้ป่วยต้องออกเงินไปก่อน ถ้าเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก คนก็อาจไม่มาทำเรื่องเพื่อเอาเงินคืน เพราะมองว่าทำให้เสียเวลา กลับอีกส่วนก็กลัวว่าครั้งต่อไปโรงพยาบาลจะไม่รักษาให้ หรือกลายเป็นที่เพ่งเล็ง แต่ครั้งนี้นับเป็นเคสแรกที่เราเพียงโทรศัพท์ประสาน และสามารถช่วยผู้ป่วยให้กลับบ้านได้ภายในเย็นวันนั้น โดยที่ไม่ต้องเสียเงินแต่อย่างใด จึงต้องขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งการประสานแก้ไขได้ไวเช่นนี้ ก็ทำให้เรารู้สึกสนุกกับงานและดีใจในการได้ช่วยเหลือคนมากยิ่งขึ้น" นางสุจิน กล่าว

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) กล่าวว่า กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยที่ไม่มีสิทธิที่จะเก็บ หรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่กำหนด (Extra Billing) เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการร้องเรียนเข้ามายังสภาผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีเรียกเก็บค่าบริการจากบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เฉพาะข้อมูลปี 2565 มีจำนวนสูงถึง 48 เรื่อง ซึ่งในกรณีของผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่เข้ารับการผ่าตัดเส้นเลือดในสมองแตก และทางโรงพยาบาลแจ้งว่าต้องจ่ายเงินส่วนต่าง 1.6 หมื่นบาท แต่ผู้ป่วยไม่มีเงินจ่าย และได้ทำการประสานให้ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองและสายด่วน สปสช. 1330 เข้าช่วยไกล่เกลี่ย จนที่สุดแล้วไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลนั้น ถือเป็นกรณีตัวอย่างของกลไกพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคที่น่าชื่นชม

“ที่ผ่านมา เราพบการร้องเรียนในลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีนี้เป็นจำนวนมาก ขอยืนยันว่า ปัจจุบันสิทธิประโยชน์บัตรทองครอบคลุมการรักษาเกือบทั้งหมดแล้ว และหน่วยบริการสามารถส่งเรื่องเบิกจ่ายมายัง สปสช. เพื่อรับเงินชดเชยได้ ฉะนั้นโรงพยาบาลจึงไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วย ซึ่งในกรณีนี้ ผู้ป่วยมีความรู้เรื่องสิทธิของตัวเองและรู้จักกลไกการไกล่เกลี่ย จึงได้ประสานงานมายังศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองอย่างรวดเร็ว ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยกับโรงพยาบาลได้ทันเวลา เพราะหากปล่อยให้มีการเรียกเก็บ Extra Billing ขึ้น สุดท้ายแล้วกรณีนี้ก็จะกลายเป็นเรื่องร้องเรียน และที่สุดโรงพยาบาลก็จะต้องจ่ายเงินคืนพร้อมค่าปรับ” น.ส. สารี กล่าว

น.ส.สารี กล่าวอีกว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้จัดทำแผนขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา ทั้งการถูกเรียกเก็บเงินจากใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตรวจทางห้องปฏิบัติการและเวชภัณฑ์ บริการนอกเวลาราชการ และบริการอื่นที่เป็นสิทธิประโชน์ เนื่องจากเป็นการเรียกเก็บเงินทั้งที่เป็นสิทธิประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และจะทำงานร่วมกับ สปสช. ในการแก้ไขปัญหา Extra Billing เพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้ป่วยและผู้บริโภคต่อไป

4