ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘ชลน่าน’ ระบุ ‘มะเร็งเต้านม-มะเร็งปากมดลูก’ พบบ่อยในผู้หญิง พร้อมฝาก ‘คัดกรองมะเร็งเต้านม’ เป็น สิทธิประโยชน์ลงบัตรทอง เพื่อการเข้าถึงที่รวดเร็ว คาดเริ่มพิจารณากจากลุ่มเสี่ยงก่อน แนะ ‘มีลูก’ ลดความเสี่ยงมะเร็งได้ 


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยในการเปิดการประชุมหารือและเสริมสร้างนโยบายมะเร็งในสตรี “Enhancing Women's Cancer Care: Thailand Women cancer Policy Forum” ว่า มะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกนั้นพบได้บ่อยในสุภาพสตรี ขณะเดียวกันแม้จะพบว่ามะเร็งเต้านมพบได้มากเป็นอันดับหนึ่ง มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 1.7 หมื่นรายต่อปี มีอัตราการเสียชีวิตเกือบ 40% ของผู้ป่วย หรือประมาณ 4,800 รายต่อปี ขณะที่มะเร็งปากมดลูกแม้จะมีอัตราผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 5,400 รายต่อปี แต่มีอัตราการเสียชีวิตเกือบ 50% ของผู้ป่วย หรือประมาณ 2,200 รายต่อปี  

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่มีอัตราสูงนั้นมาจากความล่าช้าในการเข้ารับการรักษา เนื่องจากผู้ป่วยส่วนมากจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการ เชื่อว่าหากรณรงค์ให้การเข้าค้นหา หรือการเข้าถึงการตรวจรักษา เชื่อว่าจะสามารถลดอุบัติการณ์ดังกล่าวได้กึ่งหนึ่ง

“ขณะนี้มีเทคโนโลยีที่ผู้หญิงสามารถเก็บสิ่งส่งตรวจมะเร็งปากมดลูกได้ด้วยตัวเอง และมีผลการตรวจที่แม่นยำ เพราะตรวจระดับ DNA ถ้าเจอก็เข้าสู่กระบวนการตรวจที่มีความเฉพาะมากขึ้น หากพบก็เข้ารับการรักษาได้เลย” นพ.ชลน่าน ระบุ 

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า มีผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามะเร็งเต้านมมีความสัมพันธ์กับการกระตุ้นของฮอร์โมนอย่างชัดเจน โดยจากข้อมูลระบุว่าผู้หญิงที่บุตร 2-3 คนขึ้นไปจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งน้อยกว่าผู้หญิงที่ยังไม่มีบุตรอย่างมีนัยสำคัญ ฉะนั้นจะสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการมีบุตร ซึ่งนอกเหนือจะแก้ปัญหาเรื่องประชากรแล้วยังสามารถป้องกันมะเร็งสำหรับผู้หญิงได้อีกด้วย จึงอยากจะฝากว่าจะทำอย่างไรในการรณรงค์ให้มีลูกเพื่อป้องกันมะเร็ง และสร้างความสมดุลให้กับโครงสร้างประชากรที่มีคุณภาพ  

ทั้งนี้ สธ. มีนโยบายมะเร็งครบวงจร ที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกเพศทุกวัยอย่างครอบคลุม สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลเรื่องการคุ้มครองชีวิตของประชาชน รวมถึงการประกาศ Quick Win การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปาดมดลูกให้ได้ 1 ล้านโดส ภายใน 100 วัน สำหรับผู้หญิงอายุ 11-20 ปี ทั้งในและนอกสถานศึกษา เริ่ม 1 พ.ย. นี้ 

นอกจากนี้ จากการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่ผ่านมาก็ได้มีการพูดคุยกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงความเป็นไปได้เรื่องสิทธิประโยชน์นการคัดกรองมะเร็งเต้านม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจและค้นหาได้อย่างรวดเร็ว เพราะสิทธิประโยชน์ขณะนี้เป็นเรื่องของการดูแลรักษา เช่น กลุ่มสตรีที่ตรวจพบก้อนบริเวณเต้านมด้วยตนเองซึ่งจะถือว่าอยู่ในกระบวนการตรวจค้นหาเพื่อรักษา แต่หากไม่มีอาการ แต่อยากตรวจแมมโมแกรม ตรงนี้สิทธิประโยชน์จะยังไม่คุ้มครอง 

อย่างไรก็ดี การเพิ่มสิทธิประโยชน์ยังมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย หรืออาจมีคอขวดเรื่องของการส่งต่ออ่านฟิล์มเอกซเรย์ ฯลฯ ทำให้ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ตั้งใจว่าจะเริ่มจากการกำหนดกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นอันดับแรกก่อน เช่น อายุ 35 ปีขึ้นไป เริ่มมีประจำเดือนเร็วก่อนอายุ 12 ปี และหมดประจำเดือนช้ากว่าอายุ 55 ปี มีภาวะอ้วน  ฯลฯ 

“ได้พูดคุยไปแล้ว เลขาฯ บอกจะนำเข้าสู่คณะอนุกรรมการพิจารณาสิทธิประโยชน์ มีนายกแพทยสภาเป็นประธาน คาดว่าต้องเร็ว เพราะมีการประกาศ Quick Win 100 วันในการฉีดมะเร็งปากมดลูกแล้ว เรื่องสิทธิประโยชน์ในการดูแลมะเร็งครบวงจรก็น่าจะทำ” นพ.ชลน่าน กล่าว