ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เผย ผลแบบคัดกรองสุขภาพ “ประเมินความเสี่ยงรับสิทธิตรวจยีนมะเร็งเต้านม” พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงเข้ารับบริการคัดกรองยีน BRCA1/BRCA2 สูงถึงร้อยละ 10 จากผู้ร่วมทำแบบคัดกรองทั้งหมด 2,403 คน ขณะที่สายด่วน สปสช. 1330 เร่งประสานการเข้ารับบริการของผู้ป่วยที่หน่วยบริการ มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงตอบรับเข้ารับการตรวจคัดกรองยีน BRCA1/BRCA2 แล้ว 169 คน ระบุเป็นช่องทางดูแลประชาชนเข้าถึงบริการรักษามะเร็งเต้านมก่อนลุกลาม ตามนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” พร้อมเชิญชวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ทั่วประเทศร่วมทำแบบคัดกรองสุขภาพฯ นี้         


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ดำเนินการสิทธิประโยชน์ “บริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เพื่อให้คนไทยอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง และญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ ได้รับการตรวจคัดกรอง เพื่อเป็นการเร่งค้นหาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษา โดยปีงบประมาณ 2567 ได้กำหนดเป้าหมายบริการตรวจคัดกรองฯ ไว้ที่จำนวน 7,955 ราย

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง และญาติสายตรงฯ เข้ารับบริการตรวจคัดกรองตามเป้าหมาย สปสช. ได้ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดทำแบบประเมินคัดกรองสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงและการรับสิทธิตรวจคัดกรองยีน BRCA1/BRCA2 เพื่อกระตุ้นเตือนให้กลุ่มเป้าหมายเห็นความสำคัญในการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองนี้ พร้อมจัดระบบให้คำแนะนำและประสานส่งต่อโดยสำนักบริการประชาชน สายด่วน สปสช. 1330 โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2567

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2567 มีผู้ร่วมทำแบบประเมินคัดกรองสุขภาพฯ ดังกล่าวแล้วจำนวน 2,403 ราย ในจำนวนนี้พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เข้าเกณฑ์การรับบริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 จำนวน 233 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 10 จากจำนวนผู้ทำแบบประเมินทั้งหมด และสายด่วน สปสช. 1330 ได้ดำเนินการโทรประสานกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เข้าเกณฑ์การรับบริการเพื่อให้ข้อมูลการเข้ารับบริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในหน่วยบริการ

“จากการโทรประสานกับผู้ป่วยของทางเจ้าหน้าที่สายด่วน สปสช. 1330 พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยินดีเข้ารับบริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ที่หน่วยบริการตามคำแนะนำจำนวน 169 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เข้าเกณฑ์รับบริการ สะท้อนให้เห็นผลของแบบประเมินที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเข้ารับบริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ได้ ส่วนที่เหลือเป็นกรณีผู้รับสายไม่สะดวกพูดคุย อยู่ระหว่างตัดสินใจ ไม่สะดวกรับบริการ และติดต่อไม่ได้” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมบริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ปีงบประมาณ 2567 จากข้อมูลในระบบสารสนเทศเพื่อการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบประเมินผลของ สปสช. เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 67 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการแล้วจำนวน 2,378 ราย คิดเป็นร้อยละ 30 ของเป้าหมายการคัดกรองฯ ทั้งหมด

1

โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 1,351 คน คิดเป็นร้อยละ 56.8 จากจำนวนผู้รับบริการทั้งหมด รองลงมาเป็นผู้ใช้สิทธิประกันสังคม ข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และอื่นๆ จำนวน 728 คน, 249 คน, 46 คน และ 4 คน (ตามลำดับ) โดยพบว่าจำนวนการเข้ารับบริการได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่มีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมฯ เข้าทำแบบประเมิน   

“วันนี้ สปสช. ขอเชิญชวนให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและญาติสายตรง ร่วมทำแบบคัดกรองฯ เพราะนอกจากจะได้ทราบความเสี่ยงของภาวะการเจ็บป่วยจากโรคร้ายเพื่อเข้าสู่การรักษาแล้ว ยังช่วยให้คนในครอบครัวหรือญาติสายตรง เข้ารับการตรวจคัดกรองยีน BRCA1/BRCA2 เพื่อเป็นการป้องกันก่อนที่มะเร็งจะเข้าสู่ระยะลุกลาม โดยบริการนี้เป็นสิทธิประโยชน์ที่ให้สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่มีความเสี่ยงสูง และญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ ทุกสิทธิการรักษา ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายมะเร็งครบวงจรของรัฐบาล” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

2

: แบบประเมินคัดกรองสุขภาพ เพื่อประเมินความเสี่ยง และการรับสิทธิในการตรวจคัดกรองค้นหาการกลายพันธุ์ ของยีนโรคมะเร็งเต้านม (BRCA1/BRCA2) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSdKgHGVgHTOVu4agan4Mvs-t6w9W1doYpuX41mM7sG4Ml3ilw/viewform