ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอชลน่าน” เปิดกล่องของขวัญดูแลหญิงไทยห่างไกลมะเร็งปากมดลูก ในงานกิจกรรมของขวัญปีใหม่จากใจ สปสช.-ธพส. ชวนหญิงไทยอายุ 30-59 ปี รับสิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง (HPV DNA Self-sampling) ฟรี “เลิกเขิน เลิกอาย ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง”  


เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมของขวัญปีใหม่จากใจ สปสช.-ธพส. ชวนหญิงไทยอายุ 30-59 ปีทุกคนรับสิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง (HPV DNA Self-sampling) ฟรี “เลิกเขิน เลิกอาย ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง” พร้อมเปิดกล่องของขวัญ จัดโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โดยศูนย์บริการสาธารณสุข 53 ทุ่งสองห้อง โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลเอส วาย เอช บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไบโอ โมเลกุลลาร์ แลบบอราทอรี่ส์ (ประเทศไทย) จำกัด ณ บริเวณลานกิจกรรมชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 มกราคม 2567 

1

1

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูก เป็นภัยร้ายที่คุกคามต่อสุขภาพผู้หญิงทั่วโลก และจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทยที่ต้องเร่งป้องกัน จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ แต่ละปีมีผู้หญิงไทยที่เจ็บป่วยด้วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ปีละกว่า 5 พันราย หรือเฉลี่ยวันละ 15 ราย และเสียชีวิตปีละกว่าสองพันสองร้อยราย หรือวันละ 6 ราย แต่มะเร็งปากมดลูกนั้นเป็นมะเร็งที่รักษาให้หายได้หากพบในระยะเริ่มต้น เพื่อลดภาวะเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกให้กับผู้หญิงไทยทุกคน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท มีสิทธิประโยชน์บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปาดมดลูกที่เป็นการตรวจด้วยวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์ที่มีความแม่นยำและมีประสิทธิผลสูงให้กับผู้หญิงไทยทุกคนและทุกสิทธิการรักษาพยาบาล

อย่างไรก็ดี ด้วยความเขินอายของผู้หญิงไทย ส่งผลให้จำนวนการเข้ารับบริการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้น สปสช. จึงได้บรรจุ “ชุดเก็บสิ่งส่งตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง” เป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม และร่วมมือกับหน่วยบริการในการกระจายชุดตรวจและจัดระบบบริการ ทำให้เกิดการเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันทำให้หน่วยบริการสามารถออกหน่วยบริการเชิงรุกได้  

1

1

“โครงการของขวัญปีใหม่จากใจ สปสช. - ธพส. ชวนหญิงไทย รับสิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย HPV DNA Self-sampling ฟรี เลิกเขิน เลิกอาย ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ นับเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายมะเร็งครบวงจร และเชื่อมั่นว่าจะกระตุ้นให้หญิงไทยตระหนักต่อพิษภัยโรคมะเร็งปากมดลูกและเข้ารับบริการตรวจคัดกรองที่เป็นการดูแลสุขภาพตนเอง” นพ.ชลน่าน กล่าว  

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สปสช. ได้ดำเนินการตามนโยบายมะเร็งครบวงจร นอกจากการรักษาแล้วยังครอบคลุมถึงการป้องกัน อย่างเช่นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง หรือ HPV DNA Self-sampling ที่มีการจัดกิจกรรมในวันนี้ ซึ่งในช่วง 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา มีหญิงไทยที่เข้ารับบริการแล้ว 1,446 คน ได้รับบริการ 3,691 รายการ ซึ่งในกรณีที่ผลการตรวจพบว่ามีความเสี่ยงก็จะได้เข้าถึงการรักษาได้ทันท่วงที โดยผู้มีสิทธิบัตรทองก็สามารถใช้สิทธิเข้ารักษาที่หน่วยบริการประจำได้ และผู้ที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองก็สามารถเข้ารับการรักษาตามสิทธิได้ 

5

5

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ไม่สามารถมารับบริการตรวจคัดกรองฯ ในกิจกรรมนี้ สามารถติดต่อรับบริการทีหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แจ้งขอใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก่อนรับบริการ พร้อมแสดงบัตรประชาชน หรือจองคิวเข้ารับบริการได้ง่ายๆ ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง กระเป่าสุขภาพ เลือกสิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค และเลือกตรวจคัดกรองมะเร็งสตรี หรือขอรับชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง (HPV Self Sampling) ที่หน่วยบริการที่เข้าร่วม เช่น ร้านยา คลินิกการพยาบาล ฯลฯ 

นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอื่นๆ ที่ให้บริการด้วย เช่น ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บี ซี คัดกรองความเสี่ยงเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุ และประเมินสุขภาพกายและจิต เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการทำแบบประเมินความเสี่ยงเพื่อรับสิทธิตรวจคัดกรองการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 ที่เป็นความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบบัตรทองฯ ด้วยเช่นกัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยสามารถทำแบบประเมินได้ตามลิงก์นี้ 

4

• แบบประเมินคัดกรองสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงและการรับสิทธิตรวจคัดกรองยีน BRCA1/BRCA2 : https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSdKgHGVgHTOVu4agan4Mvs-t6w9W1doYpuX41mM7sG4Ml3ilw/viewform?usp=sf_link