ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สุดเจ๋ง! งานวิจัยจีโนมิกส์ไทย ศึกษาความคุ้มค่า ‘ตรวจยีนกลายพันธุ์มะเร็งเต้านม’ ได้ตีพิมพ์วารสารวิชาการระดับโลก ‘Frontiers In Public Health’ ด้านหัวหน้าทีมวิจัยหวังเป็นต้นแบบประเทศรายได้ปานกลางเดินตาม เผย กำลังศึกษายีนกลายพันธุ์มะเร็งลำไส้ – มะเร็งรังไข่ ก่อนเสนอบรรจุชุดสิทธิประโยชน์ 


ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกับ "The Coverage" ว่า ผลการศึกษาวิจัยความคุ้มค่าในการค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม (BRCA1/BRCA2) ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) ภายใต้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จนนำไปสู่การบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการนานาชาติที่ชื่อว่า ‘Frontiers In Public Health’ ซึ่งถือเป็นวารสารวิชาการด้านสาธารณสุขระดับโลก

ศ.นพ.มานพ กล่าวต่อไปว่า สิ่งนี้เป็นการยืนยันว่าแนวทางการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) หรือการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics Medicine) ของไทย ที่แม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง แต่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ต่อระบบบริการสุขภาพในภาพรวมของประเทศ รวมถึงยังต่อยอดไปสู่การเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศเดียวกันได้ด้วย 

ทั้งนี้ จุดประสงค์ในการตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารดังกล่าว เป็นเพราะการตรวจคัดกรองการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม (BRCA1/BRCA2) เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะญาติสายตรง หรือมีสมาชิกในครอบครัวที่เคยป่วยเป็นมะเร็งมาก่อนนั้น ไม่เคยมีมาก่อนในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ หรือรายได้ปานกลาง เพราะถึงจะเป็นประโยชน์ แต่อาจไม่คุ้มค่าจากราคาบริการที่ค่อนข้างแพง

เนื่องจากโดยส่วนใหญ่บริการสุขภาพลักษณะนี้ จะอยู่ในกลุ่มประเทศร่ำรวยและมีรายได้สูง เช่น สหรัฐอเมริกา รวมถึงหลายประเทศในทวีปยุโรป และออสเตรเลีย เป็นอาทิ อีกทั้งยังมีราคาแพง แต่ด้วยการเป็นประเทศร่ำรวยจึงทำให้สามารถจัดบริการนี้ให้กับประชาชนได้ค่อนข้างครอบคลุม

"ผมคิดว่าประเทศไทย จะเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นเรียนรู้จากเราได้ โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ปานกลางเหมือนกัน ที่อาจไม่มีทรัพยากรทั้งคน และเงินที่เยอะพอ ได้เห็นเป็นแนวทางการบริการสุขภาพให้กับประชาชนในประเทศ ที่ทำได้ และคุ้มค่าด้วย" หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราชฯ กล่าว 

ศ.นพ.มานพ กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้ทีมนักวิจัย กำลังศึกษาความคุ้มค่าเกี่ยวกับการตรวจยีนในมะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ โรคมะเร็งรังไข่ ให้มีการบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์ให้คนไทยทุกสิทธิได้เข้าถึงได้เพิ่มมากขึ้น 

“เบื้องต้นพบว่ามีความคุ้มค่าหากบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์ P&P ซึ่งผลการศึกษามีความเรียบร้อยแล้ว และรอเสนอผู้กำหนดนโยบายได้พิจารณาข้อมูล หากพบว่ามีความคุ้มค่าและประโยชน์ต่อสุขภาพของคนไทย ก็อาจบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในเร็วๆ นี้” ศ.นพ.มานพ ระบุ 

อนึ่ง สำหรับผลการศึกษาวิจัยความคุ้มค่าที่ทีมนักวิจัยได้ศึกษานั้น เป็นการทำให้เห็นว่าการบรรจุการตรวจยีนกลายพันธุ์โรคมะเร็งเต้านม (BRCA1/BRCA2) เป็นชุดสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนมีความคุ้มค่า เพราะมีค่าใช้จ่ายต่อปีสุขภาวะไม่เกิน 1.6 แสนบาท ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงมะเร็งมีอายุยืนขึ้น 

ทว่า ในบางประเทศ อาจมีการกำหนดค่าปีสุขภาวะของประชากรในระดับสูง เช่น 2 ล้านบาทต่อคน เมื่อค่ากลางสูง จึงหมายความว่าเป็นประเทศที่มีงบประมาณมาก และสามารถบรรจุสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพต่างๆ ให้กับประชาชนได้หลายทางเลือกมากขึ้น