ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'ชลน่าน' เปิดประชุมหารือสร้างนโยบายมะเร็งในสตรี ชูแคมเปญ 'สวย เริด เชิด สู้มะเร็ง' รณรงค์ช่วยหญิงไทยเข้าถึงการตรวจคัดกรอง 2 มะเร็งสำคัญ 'มะเร็งเต้านม-มะเร็งปากมดลูก' บนเป้าหมายลดตัวเลขผู้ป่วยหน้าใหม่ กดตัวเลขเสียชีวิตให้น้อยลง


วันที่ 19 ต.ค. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ได้เปิดการประชุมหารือและเสริมสร้างนโยบายมะเร็งในสตรี ในหัวข้อ “Enhancing Women's Cancer Care: Thailand Women cancer Policy Forum” โดยมีทั้งภาคีเครือข่ายจากทั้งภาครัฐ และเอกชนเข้าร่วมด้วย อาทิ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ฯลฯ ที่จะขับเคลี่อนรณรงค์การป้องกันโรคมะเร็งในสตรี ภายใต้สโลแกน "สวย เริด เชิด สู้มะเร็ง" ตลอดเดือน ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ป้องกันโรคมะเร็งเต้านมสากล 

นพ.ชลน่าน เปิดเผยว่า มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก เป็น 2 กลุ่มโรคมะเร็งที่พบมากในหญิงไทย โดยข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ สธ. ระบุว่า มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 1.7 หมื่นรายต่อปี และอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมราว 4,800 รายต่อปี ส่วนมะเร็งปากมดลูก มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 5,400 รายต่อปี และเสียชีวิตประมาณ 2,200 รายต่อปี 

4

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า สธ. ให้ความสำคัญและกำหนดมะเร็งเป็นนโยบายที่ต้องทำให้สำเร็จ และเกิดการจัดการแบบครบวงจร โดยครอบคลุมทั้งการส่งเสริมป้องกัน คัดกรอง วินิจฉัย และรักษา อีกทั้งยังกำหนดเป็น Quik Win ให้เห็นผลใน 100 วันแรกอีกด้วย เช่น การฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้กับหญิงไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 11-20 ปีให้ครบ 1 ล้านคน ในเดือน พ.ย. 2566 

"สธ. พัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขามะเร็ง ให้ครอบคลุมประชาชนในทุกเขตสุขภาพ มีการดูแลรักษาและส่งต่ออย่างเป็นระบบ และเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ตามสิทธิ หรือที่เรียกว่า มะเร็งรักษาได้ทุกที่ Cancer Anywhere เพื่อให้ลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งของประชาชน" รมว.สาธารณสุข กล่าว 

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยตัวเอง จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการช่วยป้องกันโรคมะเร็งในสตรี และเชื่อว่าหากมีการตรวจคัดกรองมากขึ้น ก็จะช่วยให้ลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งได้กว่ากึ่งหนึ่ง อีกทั้งการตรวจคัดกรองและพบว่าป่วยมะเร็งในระยะแรกเลย จะยิ่งทำให้เพิ่มโอกาสทางการรักษาให้หายขาดได้ถึง 90% 

"ดังนั้น บุคลากรการแพทย์ รวมถึง สธ. เอง ต้องมาวางแผนร่วมกันเพื่อดูแลมะเร็งครบวงจร และขณะเดียวกัน ก็สร้างการรับรู้ และตระหนักรู้ในภาคสังคมเกี่ยวกับการป้องกันมะเร็งด้วยตัวเองให้มากขึ้น โดยเฉพาะการรณรงค์เพื่อให้เข้าถึงการตรวจคัดกรองทั้งจากโรงพยาบาล หรือตรวจคัดกรองด้วยตัวเองให้มากขึ้นด้วย" นพ.ชลน่าน กล่าว

1

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับบริการที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นหนึ่งในมะเร็งที่พบมากในผู้หญิง ทาง สปสช. มีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมทุกขั้นตอน รวมถึงสามารถเข้ารับบริการได้ทุกที่ (cancer anywhere) แต่แรกสุดยังแนะนำ และอยากจะประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้มีการตรวจคัดกรองด้วยการคลำตนเองก่อน อันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในทางวิชาการสำหรับคัดกรองเบื้องต้น และเมื่อพบหรือสงสัยว่ามีก้อนเนื้อก็เข้าสู่กระบวนการตรวจเพิ่มเติมสำหรับยืนยันได้ที่สถานพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการใช้แมมโมแกรม หรืออัลตราซาวด์  ซึ่งเมื่อได้ผลยืนยันแล้วก็รับการรักษาได้เลย โดยตอนนี้มีการทำศูนย์การรักษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว

อีกทั้งต้องยอมรับว่าปัจจุบัน การรักษามะเร็งในปัจจุบัน เทคโนโลยีด้านการใช้ยามีความก้าวหน้ามาก และค่อนข้างได้ผลดีมากด้วย ฉะนั้นสิ่งที่ สปสช. ยังไม่หยุดก็คือการดูว่ามียาตัวไหนที่ออกมาใหม่และมีประสิทธิภาพในการรักษาดีก็จะเพิ่มเข้าในภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยขณะนี้กำลังติดตามอยู่หลายตัว 

4

ด้าน รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่อุบัติขึ้นมากที่สุด และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดเช่นกัน แต่ที่น่าสนใจคือมะเร็งทั้ง 2 ชนิดสามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก ที่ปัจจุบันเรารู้แล้วว่า ไวรัส HPV คือสาเหตุของมะเร็งชนิดนี้ และยังหาทางป้องกันได้ผ่านการตรวจคัดกรอง รวมถึงทำให้สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว ซึ่งจะมีโอกาสรอดชีวิต 

"เป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่ปัจจุบันเราป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้แล้ว ทั้งการตรวจโดยแพทย์ หรือการตรวจได้ด้วยตัวเอง ซึ่งอุปกรณ์การตรวจก็เป็นที่แพร่หลาย ใช้งานไม่ยาก สะดวกและรวดเร็ว แต่ก็ยังพบว่ามีผู้ป่วยหน้าใหม่จำนวนมาก และยังมีผู้เสียชีวิตสูงเช่นกัน ดังนั้น การลดตัวเลขผู้ป่วยหน้าใหม่ รวมถึงลดตัวเลขผู้เสียชีวิต จะต้องรณรงค์กันอย่างจริงจัง รวมถึงควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้หญิงไทยเกี่ยวกับมะเร็งในสตรีให้มากขึ้น" รศ.นพ.วิชัย กล่าว 

5

รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยขับเคลื่อนเรื่องมะเร็งเต้านมมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาอาจมีอุปสรรคปัญหา แต่ปัจจุบันที่รัฐบาล สธ. และ สปสช. ให้ความสำคัญกับการดูแลป้องกันมะเร็งเต้านมอย่างจริงจัง ด้วยการเพิ่มการบริการที่ครอบคลุม และยังมีชุดสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ทำให้กลุ่มเสี่ยง และประชาชนทั่วไปได้ตรวจคัดกรองมากขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับประเทศ ที่จะมีโอกาสลดการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม รวมถึงลดจำนวนผู้ป่วยหน้าใหม่ไปด้วย 

นอกจากนี้ การรณรงค์เพื่อลดผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ยังเป็นเป้าหมายสำคัญขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ต้องการให้ประเทศสมาชิกมีมาตรการจัดการกับเรื่องนี้ ซึ่งมองกลับมายังประเทศไทย ด้วยศักยภาพของระบบสุขภาพในประเทศที่ทำได้ดีกว่าอีกหลายแห่ง และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ หากจะจัดการปัญหามะเร็งเต้านมบนเป้าหมายลดตัวเลขผู้เสียชีวิต ก็เชื่อว่าสามารถทำได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจาก 4 ด้านในสังคมด้วยกัน คือ 1. บุคลากรการแพทย์ด้านมะเร็งที่มีคุณภาพ และเพียงพอ  2. สธ. ทำหน้าที่คอยบริหารจัดการบริการสุขภาพสาขามะเร็ง 3. สปสช. ที่คอยผลักดันชุดสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ป่วย และ 4. ประชาชน ที่จะได้รับองค์ความรู้ด้านสุขภาพมากขึ้น

"ทั้ง 4 เสาที่เข้มแข็ง หากเดินหน้าบนเป้าหมายเดียวกันอย่างเป็นระบบ นั่นคือการรณรงค์ลดการเสียชีวิต การเกิดมะเร็งเต้านม เชื่อว่าจะช่วยให้การป้องกันผ่านการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในประเทศดีขึ้น" รศ.พญ.เยาวนุช กล่าว 

4