ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สวรส. เดินหน้าจัดทำแดชบอร์ด รพ.สต. ประเมินการให้บริการปฐมภูมิกับประชาชน หากบริการลดลงส่งสัญญาณเตือนได้ทันที คาดอีก 3 เดือนเสร็จ 


ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ สวรส. โดยนักวิจัยในเครือข่าย อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ ‘แดชบอร์ด’ ซึ่งเป็นการแสดงผลข้อมูลการให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อใช้เป็นข้อมูลเรียลไทม์ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งคาดว่าระบบแดชบอร์ดจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนี้ 

ทั้งนี้ แดชบอร์ดข้อมูล รพ.สต. จะเป็นการแสดงผลแบบรายแห่ง โดยเป็นการรีพอร์ทข้อมูลด้านการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิกับประชาชน เพื่อให้เห็นว่า รพ.สต. แห่งใด ที่อาจมีการให้บริการดีขึ้นหรือลดลง และระบุได้ว่าอยู่ในพื้นที่ใด รวมถึงสถานการณ์สุขภาพของประชาชน เพื่อให้ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการดูแลสุขภาพ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมถึง อบจ. ที่รับถ่ายโอน รพ.สต. สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ตรงตามสถานการณ์

“หาก รพ.สต. ใดให้บริการลดลง สัญญาณจากแดชบอร์ด จะโชว์ไฟสัญญาณสีแดง ส่วน รพ.สต.แห่งใดที่บริการดีก็จะเป็นสีเขียว แต่ถ้า รพ.สต. ใดที่มีแนวโน้มจะลดลงก็จะเป็นสีเหลือง" รองผู้อำนวยการ สวรส. กล่าว 

ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวอีกว่า เมื่อแดชบอร์ดข้อมูลของ รพ.สต.เสร็จสมบูรณ์แล้ว จะนำไปแสดงที่หน้าเว็บไซต์ของ สวรส. (https://www.hsri.or.th/researcher) โดยประชาชนที่สนใจ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดูได้ทั้งหมด 

นอกจากนี้ ในส่วนข้อมูลการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่นำมาวิเคราะห์ตามตัวชี้วัดเพื่อบ่งชี้การให้บริการสุขภาพกับประชาชนของ รพ.สต.นั้น ซึ่งจะเป็นข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ทำงานร่วมกันกับนักวิจัยเครือข่าย สวรส. โดยจะเน้นข้อมูลตัวชี้วัดที่สามารถประเมินผลการให้บริการได้รวดเร็ว เช่น การให้บริการผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน การคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ ผู้มีภาวะสมองเสื่อม รวมไปถึงผู้มีกิจวัตรประจำวันบกพร่อง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สามารถประมวลผลได้เร็ว และสรุปเป็นข้อมูลได้ทันที  

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่หน่วยบริการให้บริการลดลงและมีการส่งสัญญาณเตือน อาจไม่ได้เป็นการระบุว่า รพ.สต.มีความบกพร่อง แต่จะเป็นสัญญาณที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบสถานการณ์และเข้าไปสนับสนุน เช่น ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ใน รพ.สต.ไม่เพียงพอ เป็นต้น ซึ่งการระบุข้อมูล รพ.สต. เป็นรายแห่งจากแดชบอร์ดนี้ จะช่วยทำให้เห็นข้อมูลที่ละเอียดขึ้น และเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยให้มีการติดตามประเมินผลการให้บริการของ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปแล้วด้วย เพื่อให้การบริการสุขภาพปฐมภูมิกับประชาชนในแต่ละท้องที่มีประโยชน์มากที่สุด