ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผลหารือแก้ปม ‘บุคลากรถ่ายโอน’ ระหว่าง ‘สมาคม อบจ.-รองอธิบดี สถ.-สธ.’ 9 ต.ค. 2566 ได้ข้อสรุปเบื้องต้นชัด 8 ขั้นตอน สธ. ให้รวมรายชื่อที่ไม่ตรงกันส่งคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ตัดสินว่าจะได้ถ่ายโอนหรือไม่ พร้อมกับให้ สถ. ออกหนังสือซักซ้อม อบจ. ให้เข้าใจตรงกัน 


นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ (อบจ.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2566 ระหว่างสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า ได้มีการพูดคุยกันในหลายประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องรายชื่อบุคลากรที่ไม่ตรงกัน ในส่วนที่เป็นปัญหา คือบุคลากรประเภทที่ขอถ่ายโอนมาจาก รพ.สต. ที่ไม่ได้ถ่ายโอน และ บุคลากรจาก 5 หน่วยงานคือ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ ในปี 2567 

ทั้งนี้  ได้มีการสรุปในเบื้องต้น ให้ดำเนินการใน 8 ขั้นตอนคือ 1. ให้ อบจ. นำรายชื่อที่ได้รับเป็นไฟล์ excel จากสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอขออนุมัติรับโอนจากที่ประชุม คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.จ.) 2. เมื่อได้รับการอนุมัติจากที่ประชุม ก.จ.จ. แล้ว ให้ทาง อบจ. ออกคำสั่งรับโอน

3. ส่งคำสั่งรับโอนทั้งหมดกลับไปให้กับทาง สธ. 4. ให้ทาง สธ. รวบรวมรายชื่อเสนอ อ.กพ.สธ. แต่หากทาง สธ. เห็นว่ารายชื่อบางส่วนยังไม่ตรงกันก็ให้รวบรวมส่วนที่ไม่ตรงกันส่งกลับไปที่ ก.ก.ถ. 5. เมื่อทาง ก.ก.ถ. ได้รับข้อมูลรายชื่อแล้วก็จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจการถ่ายโอนฯ เพื่อพิจารณาตัดสินว่าควรจะถ่ายโอนได้หรือไม่ 6. ทาง ก.ก.ถ. ส่งมติพร้อมกับรายชื่อกลับไปยัง สธ. 7. ทาง สธ.นำรายชื่อทั้งหมดเสนอ อ.ก.พ.สธ. เพื่อขออนุมัติตัดโอน 8. แจ้งกลับไปยัง สสจ. เพื่อแจ้งต่อ อบจ. เพื่อดำเนินการในขั้นตอนของ อบจ. ต่อไป

4

นายกิตติชัย กล่าวว่า ส่วนในการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว ได้ขอให้ทาง สถ. ออกหนังสือซักซ้อมอย่างเป็นทางการไปยัง อบจ. อีกครั้ง ซึ่งในวันนั้นมี นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดี สถ. เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เนื่องจากขณะนี้ อบจ. ยังมีความสับสนในแนวการดำเนินการที่ถูกต้องอยู่ เพราะแต่ละฝ่ายก็สั่งมาคนละแบบแถมยังมีข้อมูลที่ยังไม่ตรงกันอีก ประกอบกับขณะนี้ ทาง สสจ. แต่ละจังหวัดก็ได้มีการเรียกตัวบุคลากรทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวให้กลับไปทำงานที่เดิมทั้งๆที่ไปรายงานตัวเข้าทำงานกับ อบจ. เรียบร้อยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เกิดความสับสนในการปฎิบัติอย่างยิ่ง  

นายกิตติชัย กล่าวต่อไปว่า จากความไม่ชัดเจนเรื่องรายชื่อทำให้ อบจ. หลายแห่งไม่มั่นใจเรื่องการนำรายชื่อแจ้งเข้า ก.จ.จ. เพื่ออนุมัติและออกคำสั่งรับโอน เพราะไม่แน่ใจว่าต้องใช้รายชื่อส่วนใด ฉะนั้น จึงทำให้ อบจ. ยังไม่สามารถออกคำสั่งแล้วส่งกลับไปยัง สธ. ได้   

นายกิตติชัย กล่าวอีกว่า เป็นที่น่าสังเกตุว่าในการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. เมื่อปี 2565 ได้มีการสรุปรายชื่อเข้าสู่ที่ประชุม อ.ก.พ.สธ. เพื่อขออนุมัติตัดโอนตั้งแต่ เม.ย. 2565 แล้วให้มามีผลในวันที่ 2 ต.ค. 65 ซึ่งทุกอย่างก็ได้ดำเนินไปด้วยดีไม่มีปัญหาอย่างเช่นปีนี้ ซึ่งตอนนี้ก็ล่วงเลยเข้าปีงบฯ 2567 แล้วแต่กระบวนการตัดโอนบุคลากรในการถ่ายโอนรอบใหม่ยังไม่เกิดขึ้น และทุกอย่างผิดขั้นตอนไปหมด 

ดังนั้น ในการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ จะต้องให้ผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 2 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา เพราะเป็นวันที่บุคลากรถ่ายโอนได้ไปรายงานตัวปฏิบัติงานกับ อบจ. แล้ว และที่น่าเห็นใจก็คือบุคลากรเหล่านี้ได้เก็บข้าวของ อำลา เลี้ยงส่งจากที่ทำงานเดิม เพื่ออยู่บ้านหลังใหม่แล้ว แต่อยู่ๆ ทาง สสจ. ก็เรียกตัวกลับให้ไปทำงานที่เดิม แถมข่มขู่ว่าถ้าไม่กลับไปก็จะถือว่าเป็นการขาดราชการ จะต้องถูกดำเนินการทางวินัย 

รวมถึงมีการสอบถามว่าจะเปลี่ยนใจไม่ถ่ายโอนหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนใจจะหาทางช่วยเหลือซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของผู้ปฎิบัติงานเป็นอย่างมากซึ่งเมื่อได้ยินได้ฟังแล้วรู้สึกหดหู่ใจมาก เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดมาจากความผิดของพวกเขา จึงขอฝากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ถอดบทเรียนของความผิดพลาดและปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาในปีต่อไป