ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บุคลากรถ่ายโอน 5 หน่วยงาน ที่ไม่ตรงตามภารกิจ-ไม่อยู่ในรายชื่อของ สธ. ให้กลับมาปฏิบัติงานที่เดิม สังกัด สธ. ก่อน รอ อบจ. รวมรายชื่อยินยอมรับโอน ส่ง อ.ก.พ.สธ. พิจารณาใหม่ ชี้ มติอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ อาจทำคนสับสน เพราะหากข้าราชการจะทำงานที่อื่นมีหลักราชการปฏิบัติอยู่


นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในช่วงหนึ่งของการประชุมขับเคลื่อนนโยบายของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ในวันที่ 12 ต.ค. 2566 ถึงกรณีปัญหาบุคลากรถ่ายโอนว่า บุคลากรที่ประสงค์ถ่ายโอนแต่ไม่ตรงตามภารกิจ ที่อยู่ใน 5 หน่วยงาน คือ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งไม่ได้อยู่ในรายชื่อของ สธ. แต่ไปรายงานตัว และปฏิบัติงานที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แล้ว ให้ทางพื้นที่ทำความเข้าใจกับบุคลากรกลุ่มนี้ในเบื้องต้นว่าให้กลับมาปฏิบัติงานที่เดิม สังกัด สธ. ก่อน โดยถ้าเป็นไปแนวทางนี้ได้ก็จะดี

ทั้งนี้ ให้พื้นที่รวบรวมบัญชีรายชื่อยินยอมรับโอนจากทาง อบจ. มาที่กองบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อทำการกลั่นกรอง ก่อนนำเสนอต่อให้ อ.ก.พ.สธ. พิจารณา แล้วจึงมีมติออกมาว่าบุคลากรกลุ่มนี้มีใครบ้างที่จะได้ไปหรือไม่ได้ไป ฉะนั้นคำกล่าวอ้างที่บางคนพูดว่ามติของคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ เป็นที่สิ้นสุด มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น และต้องผ่านกระบวนการอีก

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่าโดยปกติข้าราชการจะไปทำงานที่อื่น จำเป็นต้องมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติราชการจากที่เดิมก่อน อันนี้น่าจะเป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาหลายคนได้รับทราบตามมติคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาจจะทำให้เกิดความสับสนได้ 

อีกทั้งในการถ่ายโอนบุคลากร โดยเบื้องต้นบัญชีรายชื่อของผู้ที่ประสงค์ถ่ายโอนจะได้รับการรับรองผ่านทาง อบจ. มาก่อน จึงทำให้บางคนอาจเข้าใจว่าเป็นที่สิ้นสุดแล้ว เพราะถือว่าสมัครใจตามภารกิจการถ่ายโอนฯ แต่โดยการปฏิบัติตามราชการ หน่วยงานต้นทางที่สังกัดอยู่ของบุคลากรเหล่านั้น ซึ่งในที่นี้คือ สธ. ต้องมีการพิจารณาก่อน รวมถึงมีการรับรองอย่างเป็นทางการผ่านทาง อ.ก.พ.สธ. ซึ่งอันนี้คือหลักเบื้องต้น

มากไปกว่านั้น 5 หน่วยงาน ที่มติคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ให้หัวหน้าหน่วยงานเห็นชอบ ต้องเข้าใจในราชการว่าการเห็นชอบของผู้อำนวยการโรงพยาบาล และนายแพทย์ สสจ. เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้น เพราะหน่วยงานเหล่านี้ไม่ได้เป็นนิติบุคคล เพราะฉะนั้นคนที่จะมีอำนาจในการตัดสินใจคือผู้บังคับบัญชาของนิติบุคคลนี้ ซึ่งก็คือ ปลัด สธ. 

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า โดยในประเด็น 5 หน่วยงานนี้ก็จะมีข้อยันกันมาในคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ โดยก็อย่างที่ทราบว่ามีการวินิจฉัยทุกอย่าง ที่นี้ข้อกังวลของทาง สธ. ก็คือ ข้อวินิจฉัยเหล่านั้น ที่บังเอิญ สธ. อยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย บางครั้งไม่แน่ใจว่าจะเหมาะสมถูกต้องหรือไม่ เพราะถ้าไม่ถูกใจ ก็จะมีการขอวินิจฉัย และสั่งการใหม่ เหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมาถึงขั้นที่ต้องดำเนินการมาเป็นปีแล้ว ก็จะมีการทบทวนกันผ่านทางอนุฯ กฎหมายในประเด็นต่างๆ ที่แนวทางคู่มือที่ออกมาจากคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ ซึ่งบางส่วนบางประเด็นไม่ได้เขียนไว้ชัดเจน และต้องผ่านการวินิจฉัยทางกฎหมาย

“ที่ผ่านมาเราก็มีการสื่อสารแบบนี้ แต่เขาบอกว่าเราไม่ดำเนินการตามมติที่เห็นชอบกันนู้นนี่ เราทำผิดกฎหมาย” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

สำหรับบุคลากรที่ถ่ายโอนไปแล้ว และอยากกลับ ซึ่งค่อนข้างมีความยากในกระบวนการ เนื่องจากการกระจายอำนาจจะมีคำว่าสมัครใจ ซึ่งแปลว่าสามารถถ่ายโอนข้ามกรมข้ามกระทรวงโดยอัตโนมัติ เอาตัวบุคคล และเลขไป โดยพอไปแล้วจะไม่มีเรื่องของการถ่ายโอนกลับ การกลับมีเฉพาะกรณีการโอนย้ายข้ามกระทรวงข้ามกรม ที่ต้องถามต้นทางและปลายทางเพื่อเอาเลขมา แต่ใครจะเอาเลขมาก็คงไม่ง่าย ฉะนั้นต้องรอตำแหน่งว่างก็ต้องพิจารณากันไป ดังนั้นขากลับยากอยู่แล้ว เพราะไม่มีกฎหมายรองรับให้คนที่ถ่ายโอนไปแล้ว กลับมาอย่างอัตโนมัติได้เหมือนตอนไป

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนนี้เองที่ทำให้ปี 2565 ซึ่งต้องมาดำเนินการปี 2566 โดยได้รับทราบมาว่ากว่า สธ. จะรู้เรื่อง บุคลากรกลุ่มนี้ก็สมัครเข้าระบบ อบจ. ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นก็เอากลับมาไม่ทัน ส่วนในปี 2567 นี้ ที่พิจารณาของปี 2566 ก็ได้มีโอกาสยื่นในกรณีที่บุคลากรมีการสมัครในระบบ ให้ต้องส่งรายชื่อเหล่านั้นมาให้ สธ. และให้หัวหน้าหน่วยงานทักท้วงภายใน 7 วัน 

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนในกรณีบุคลากรถ่ายโอนที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ตรงตามภารกิจถ่ายโอน ที่ถ่ายโอนไปเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566 ตามกฎหมาย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไม่ว่าเลขตำแหน่งอยู่ที่ใด แต่ถือว่าปฏิบัติหน้าที่ตรงตามภารกิจ โดยทางพื้นที่ได้ตรวจสอบถูกต้องแล้ว โดยเฉพาะกองบริหารทรัพยกรบุคคล สธ. และได้เสนอ รวมถึงได้รับความเห็นชอบจาก อ.ก.พ.สธ ทาง สธ. จึงได้รับรองรายชื่อกลุ่มนี้ อีกทั้งส่งกลับไปยังพื้นที่แล้ว สำหรับเงินเดือน วันที่ 1 ต.ค. 2566 จะได้รับจาก สธ. แต่หลังจากนั้นจะได้รับจาก อบจ. 

“อันนี้ก็มาทำความเข้าใจชัดเจน ซึ่งอาจจะมีการสื่อสารในเบื้องต้นอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน หรือผู้ที่รับผิดชอบได้รับการกดดันบางด้านทำให้สื่อสารออกไปในบางประเด็น แต่ตอนนี้เป็นที่ชัดเจนแน่แล้วว่าวันที่ 1 ต.ค. เท่านั้นที่เราจะรับผิดชอบเงินเดือนของบัญชีชุดแรก ที่ตรงตามภารกิจ และผ่าน อ.ก.พ. ไปแล้ว ซึ่งหลังจากวันที่ 2 ต.ค. เข้าก็ไปรายงานตัว ทำงานที่ อบจ. และรับเงินเดือนจากที่นู่น” นพ.กิตติศักดิ์ ระบุ