ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘เลอพงศ์’ เผย ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งรัดของบกลาง สำหรับจ่ายเป็น ‘เงินเดือน-สวัสดิการ’ ให้กับบุคลากรที่ถ่ายโอน คาดเข้า ครม. 24 ต.ค. นี้ ย้ำ ได้ทุกคนแม้รายชื่อไม่ตรง สธ. 


นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2566 ได้ไปหารือนอกรอบกับทางสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ในเรื่องการจ่ายเงินเดือน และสิทธิสวัสดิการต่างๆ ของบุคลากรที่ถ่ายโอนรอบในปีงบประมาณ 2567 และได้ข้อสรุปร่วมกันในเรื่องนี้ว่าให้เป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ เหมือนเดิม แต่จะเร่งรัดให้เร็วขึ้น ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ไม่เกินวันที่ 24 ต.ค. 2566 

เนื่องจากในกระบวนการขั้นตอนการของบกลาง ตอนแรกสุดที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าจะให้ดำเนินการตามกลไกปกติ ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 1-2 เดือน ในการหารือครั้งนี้ จึงมีพิจารณาแนวทางใหม่อีกครั้ง ทว่า ก็มีโอกาสที่จะไม่เป็นไปตามที่คิดเอาไว้ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ 2 ข้อ ประกอบด้วย 1. การลงนามในเอกสารเพื่อขอใช้งบกลางของ รมว.มหาดไทย (มท.) และ 2. การอนุมัติโดย ครม. 

นอกจากนี้ ในการหารือยังเห็นพ้องต้องกันว่าถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สถ. กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ ฯลฯ ไม่สามารถทำให้บุคลากรที่ถ่ายโอนได้รับเงินเดือนตามที่วางกรอบเวลาเอาไว้ จะเกิดผลกระทบต่อรัฐบาล ซึ่งอาจทำให้นายกรัฐมนตรี ต้องลงมาดูด้วยตนเอง ดังนั้นทุกฝ่ายจึงพยายามทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ และเร่งด่วนที่สุด

“ถ้าเรื่องนี้ขาดช่วงขาดตอน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สำนักงบฯ สถ. อบจ. เดือดร้อนแน่ เพราะจะโดนน้องๆ บุคลากรที่ถ่ายโอนฟ้องเละแน่ ถ้าสมมติไม่มีเงินไปจ่ายเขา ซึ่งจากที่ดูไม่น่ามีปัญหาอะไรในการนำเรื่องของบกลางเข้าสู่ที่ประชุม ครม.” นายเลอพงศ์ ระบุ

นายเลอพงศ์ ยืนยันว่า บุคลากรที่ถ่ายโอน และไปรายงานตัวกับ อบจ. แล้ว แต่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังไม่ยืนยันรายชื่อ ซึ่งเป็นข้าราชการประมาณ 400 คนนั้น ไม่ต้องกังวล จะได้รับเงินเดือนแน่นอน เพราะตามมติคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ให้ยึดข้อมูลของ สถ. โดยในปีงบฯ 2567 มีทั้งหมด 6,643 คน และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้ส่งมติดังกล่าวไปที่ สธ. ตั้งแต่ 29 ก.ย. 2566 แล้ว หาก สธ. บอกว่าข้อมูลไม่ตรงกัน จึงยังให้บุคลากรกลุ่มนี้ถ่ายโอนไปไม่ได้ ประเด็นสำคัญ คือ สธ. ใช้อำนาจใดในการโต้แย้งมติ ส่วนที่ สสจ. บางแห่งจะให้รับเงินเดือนตามเดิมก่อน ระหว่างรอ สธ. ยืนยันรายชื่อ ซึ่งอาจเกิดความซ้ำซ้อนกันในการจ่ายเงินเดือน เรื่องนี้อยู่ที่ความรับผิดชอบของส่วนราชการนั้นๆ 

นายเลอพงศ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นที่ สธ. ส่งหนังสือด่วนที่สุดไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด กรณีจ่ายเงินเดือนบุคลากรถ่ายโอนในวันที่ 1 ต.ค. 2566 เพียงวันเดียว ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ในส่วนการกล่าวอ้างถึงมติคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 ด้วยนั้น ขณะนั้นทางสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.) ยังไม่มีการออกหนังสือแจ้งมติคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ให้กับหน่วยงานใดเลย

อนึ่ง เรื่องนี้สืบเนื่องจากกรณีงบฯ ในปี 2567 ถูกเลื่อนการประกาศใช้ เพราะการยุบสภาของรัฐบาลชุดก่อน และอาจถูกประกาศใช้ราวเดือน พ.ค. 2567 ซึ่งระหว่างนี้ตามระเบียบการใช้งบฯ ในกรณีนี้ จะเป็นการให้ทุกส่วนราชการใช้งบฯ ปี 2566 ไปพลางก่อน จึงทำให้เรื่องเงินเดือน และสิทธิสวัสดิการต่างๆ ของบุคลากรที่ถ่ายโอนรอบใหม่ในปีงบฯ 2567 นี้ ที่เดิมสังกัดอยู่ สธ. แต่ถ่ายโอนมา อบจ. ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ มท. หากทาง สธ. เป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้บุคลากรที่ถ่ายโอน จะเป็นการผิดวิธีการใช้งบฯ และผิดกฎหมาย

ดังนั้น ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ จึงมีมติให้สำนักงบประมาณ สนับสนุนงบฯ ให้ อบจ. จ่ายเงินเดือนและสิทธิสวัสดิการต่างๆ ของบุคลากรที่ถ่ายโอนตามรายชื่อที่ สถ. เสนอ และตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 ซึ่งมอบหมายให้ สถ. รวบรวมข้อมูลค่าใช้จ่ายบุคลากรถ่ายโอนจาก อบจ. เพื่อเสนอ รมว.มท. พิจารณาเห็นชอบกรอบวงเงินงบฯ ในการเสนอของบกลาง ปีงบฯ 66