ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือที่เรียกว่าเป็น “ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ” (social determinants of health) เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมที่บุคคลเกิด เติบโต ทำงาน ดำรงชีวิต ไปจนถึงระบบหรือโครงสร้างของสังคม เช่น รายได้ การเมือง สังคม วัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ ที่กำหนดเงื่อนไขในชีวิตประจำวัน

ฉะนั้นนโยบายและการวางแผนพัฒนาระบบสุขภาพ จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพดังกล่าวได้อย่างครอบคลุม เพื่อสามารถเตรียมการรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น หรือป้องกันความเสี่ยงจากผลกระทบของปัญหาที่รุนแรงให้ลดน้อยลง ตลอดจนสามารถวางแผนบริหารจัดการในปัจจุบันให้เกิดประสิทธิภาพได้มากที่สุด

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับทีมวิจัยจากมูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทย ทำการวิจัย “ฉากทัศน์อนาคตระบบสุขภาพไทยใน 10 ปีข้างหน้า” เพื่อศึกษาสถานการณ์และแนวโน้มของปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพของประเทศไทย (พ.ศ. 2566-2575) และเสาะหาความเป็นไปได้ของระบบสุขภาพไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า

ตลอดจนการสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านระบบสุขภาพที่เหมาะสมตามบริบทของประเทศไทย และรองรับแนวโน้มระบบสุขภาพที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างภาพฉากทัศน์อนาคตระบบสุขภาพไทยใน 10 ปีข้างหน้า จากการระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ทั้งจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทันตแพทยสภา บริษัท AIA สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) บมจ.ธนาคารกสิกรไทย สถาบันพระปกเกล้า ฯลฯ รวมจำนวน 60 คน เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2566

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวช่วงเปิดการประชุมว่า ถ้าเป็นนักกลยุทธ์ที่ดี ต้องมีข้อมูลในการวิเคราะห์สิ่งที่ผ่านมา ถ้าเป็นนักกลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยม จะรู้ว่าจะทำอะไรในสถานการณ์ข้างหน้า การสร้างภาพฉากทัศน์ระบบสุขภาพของประเทศในช่วงเวลาข้างหน้า การใส่ intervention อะไรเข้าไป ซึ่งอาจไม่ใช่ทางเลือกเพียงทางเดียวด้วยนั้น ไม่สามารถจะได้ผลในวันนี้พรุ่งนี้

1

ฉะนั้นการที่ยิ่งรู้เร็วเท่าไหร่ว่าประเทศจะเป็นอย่างไร จึงมีความจำเป็นอย่างมาก แต่ขณะที่โลกก็มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากเช่นกัน รวมถึงเรื่องระบบสุขภาพ ซึ่งเคยทำการพยากรณ์ (forecasting) มาเยอะมาก ที่เราได้หลักฐานเชิงวิชาการบางอย่างมา ร่วมกับประสบการณ์และภูมิปัญญาที่สามารถนำมาช่วยวาดให้เกิดภาพที่ใกล้เคียงได้ โดยเราน่าที่จะนำข้อมูลจริงขณะนี้มาทาบดู ว่าเราใช้ข้อมูลอะไรไป มีตัวแปรอย่างไร ตัวไหนแม่นยำ และตัวไหนต้องปรับปรุง

ตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมาแผนโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ ที่ทำมาทุก 3 ปี ก็ไม่สามารถรองรับเวลาเกิด Pandemic ของ COVID-19 หรือธรรมนูญสุขภาพ ฉบับที่ 3 ที่เราพยายามมองไปข้างหน้า เพื่อสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพที่มีความสลับซับซ้อนมากพอสมควร หลายเรื่องเชื่อมโยงและมีผลต่อกัน ปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นมีความสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการวางฉากทัศน์ของอนาคตในครั้งนี้ด้วย

“นอกจากนั้นเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน เราอยู่ในยุคจีเนติค ซึ่งมีผลต่อการกำหนดตัวตนเราถึง 25-30%, โรคหายากบางโรคที่เจอเพียง 1 ในแสนคน แต่เทคโนโลยีจีโนมิกส์ก็สามารถหาได้ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีนี้ก็มีราคาสูงมาก มีเพียงคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งทำให้ความเป็นธรรมในสังคมยิ่งถ่างกว้างออกไปอีก

“แม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไป แต่ความเป็นธรรมของการเข้าถึงต้องเดินคู่ขนานไปด้วย และทุกวันนี้รัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญกับหลักฐานเชิงประจักษ์มากขึ้น เพราะคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งนั่นนับเป็นโอกาส หากเรามีข้อมูลที่ดีบนหลักฐานที่ชัดเจน ผู้กำหนดนโยบายย่อมเห็นความสำคัญและน่าจะซื้อแนวคิดไปดำเนินการให้เกิดรูปธรรมได้จริง” นพ.ศุภกิจ ระบุ

ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รักษาราชการแทนรองปลัด สธ. กล่าวว่า ข้อมูลจากการระดมความคิดเห็นในการประชุมครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะถูกนำเสนอหรือนำไปใช้ประโยชน์ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ (ซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมทั้งการประชุมนโยบายอื่นๆ

2

ดร.นพ.พงศธร กล่าวต่อไปว่า โดยเรื่องนี้มีความสำคัญในการเป็นข้อมูลนำเข้าเพื่อการจัดทำนโยบาย ซึ่งมีการนำข้อมูลยุทธศาสตร์ชาติ ข้อมูลสถานการณ์ของประเทศไทยเปรียบเทียบกับสถานการณ์โลกว่า ณ ขณะนี้เราอยู่ตรงไหนของโลก ผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทย นโยบายการเมืองด้านสาธารณสุข ร่วมกับข้อมูลในวันนี้ “ฉากทัศน์ระบบสุขภาพไทยในอนาคตข้างหน้า” มาประกอบ เพื่อการวางแนวทางการเตรียมพร้อมรองรับสิ่งต่างๆ ที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น

นพ.โสภณ เมฆธน อดีตปลัด สธ. เสริมว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก (Mega Trend) เป็นข้อมูลสำคัญที่จะประกอบการสร้างภาพฉากทัศน์อนาคตระบบสุขภาพ อาทิ พลังอำนาจที่เปลี่ยนไป โลกตะวันออกจะมีอิทธิพลในการเมืองโลกมากขึ้น การเกิดสงคราม การกีดกันทางการค้า, โครงสร้างประชากร คนมีอายุยืนมากขึ้น สังคมผู้สูงอายุ เด็กเกิดน้อย, การเปลี่ยนแปลงของสังคม คนส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตแบบปัจเจกบุคคลมากขึ้น เกิดช่องว่างของแต่ละช่วงวัย มีความแตกต่างทางความคิด เชื้อชาติ วัฒนธรรม อุดมการณ์เพิ่มขึ้น

3

รวมถึงเทคโนโลยี จะเข้ามามีผลกับระบบสุขภาพ อาหารสุขภาพที่มีพื้นฐานมาจากพืช การแพทย์แม่นยำ การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง การพัฒนาระบบสาธารณสุขเขตเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและรายได้, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน ภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง โดยที่ความเสี่ยงระดับโลกจัดให้เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงในระยะยาว (10 ปี) ในลำดับต้นๆ รองลงมาเป็นเรื่องของการเคลื่อนย้ายประชากร แรงงานข้ามชาติ การปรับตัวต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ ฯลฯ

ทั้งนี้ กรอบเเนวคิดงานวิจัยฯ ที่จะนำไปสู่การสร้างภาพฉากทัศน์อนาคตระบบสุขภาพใน 10 ปีข้างหน้าคือ การวิเคราะห์ถึงแนวโน้มทิศทางการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ทั้งระดับประเทศและระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ ตามหลัก PESTEL ได้แก่ การเมือง (Politic: P) เศรษฐกิจ (Economy: E) สังคม (Society: S) เทคโนโลยี (Technology: T) สิ่งแวดล้อม (Environment: E) กฎหมาย (Law: L) โดยคำนึงถึงปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ ได้แก่ 1. ปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ตำแหน่งและสถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคมของบุคคล

2. ปัจจัยตัวกลาง/ปัจจัยส่งผ่านสุขภาพ เช่น สภาพความเป็นอยู่ สภาพจิตใจ พฤติกรรม ระบบบริการสุขภาพ ทั้งนี้แนวโน้มการดูแลสุขภาพในอนาคต เช่น มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการประมวลผลมากขึ้น คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง มีปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่น การดูแลสุขภาพเน้นการป้องกันเพื่อให้เกิดสุขภาพที่ดี ไม่เน้นเรื่องการรับบริการ/รักษาพยาบาล ผู้รับบริการมีส่วนร่วมในการรับบริการมากขึ้น ผู้ป่วยมารับบริการน้อยลง มี AI เข้ามาช่วยมากขึ้น ฯลฯ

นพ.โสภณ บอกต่อไปว่า ส่วนด้านผลลัพธ์สุขภาพเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา) พบประเด็นที่ประเทศไทยต้องแก้ไขหรือพัฒนาเพิ่มเติม เช่น การสูบบุหรี่ของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปยังพบอัตราที่สูง, การบริโภคผักของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปยังมีปริมาณที่น้อย, ภาระโรคที่เกิดจากวัณโรคยังพบสูง, คนไทยอายุ 65 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ยังไม่ครอบคลุม, รายจ่ายด้านสุขภาพต่อหัวประชากรไทยยังได้น้อย ฯลฯ

4

รวมถึงในอนาคตหลายเหตุการณ์อาจไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลแบบตรงไปตรงมา หรืออาจไม่ได้มีตรรกะที่เข้าใจได้ชัดเจน ซึ่งจากการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญ พบปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูงและมีผลกระทบต่อระบบสุขภาพ อาทิ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ โรคระบาดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและวิถีชีวิต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ

สำหรับในเวทีระดมความคิดเห็นฯ ครั้งนี้ ได้เลือก 2 เรื่องสำคัญ 1. การเกิดโรคระบาดใหญ่ 2. ความผันผวนทางเศรษฐกิจ มาเป็นประเด็นแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นเพื่อร่วมกันสร้างภาพฉากทัศน์อนาคตระบบสุขภาพไทยใน 10 ปีข้างหน้า รวมถึงจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับผู้กำหนดนโยบายต่อไป

ทั้งนี้ ผลจากการระดมความคิดเห็น มีข้อมูลเบื้องต้นของภาพฉากทัศน์อนาคตที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปัจจุบันคือ เศรษฐกิจมีความผันผวน แต่ไม่ได้เกิดโรคระบาดใหญ่ ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ระบบสุขภาพยังอยู่ในภาวะปกติที่จัดการได้ แต่ภาคเศรษฐกิจอาจเกิดภาพ 3 ตก 1. งานตก คนตกงาน 2. จิตตก คนมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต 3. เงินของรัฐตก เก็บภาษีได้น้อยลง ซึ่งทั้ง 3 ตก ส่งผลให้คนทำงานที่เคยอยู่ในระบบประกันสังคมเปลี่ยนไปอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มากขึ้นทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต

ส่งผลให้ผู้รับบริการในระบบสุขภาพมากขึ้น ความยั่งยืนทางด้านการเงินการคลังของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในอีก 10 ปีข้างหน้าจึงมีความน่าเป็นห่วง และเมื่อเงินของภาครัฐน้อยลง คนที่สามารถเข้าถึงบริการได้ จะเป็นคนบางกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ทำให้นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพมากขึ้น ส่วนในมิติต่างๆ ควรมีการปรับตัวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ด้านการเมืองในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีความผันผวน รัฐมีเงินน้อยลง การทำนโยบายประชานิยมไม่ควรเกิดขึ้นหรือมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

5

ด้านเศรษฐกิจ ควรส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นจากต่างประเทศและเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และเมื่อเชื่อมโยงภาพเศรษฐกิจผันผวนกับมิติอื่นๆ ทำให้เห็นว่าหลักคิดพื้นฐาน “เศรษฐกิจพอเพียง” น่าจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและทำให้ประคองเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนได้ สำหรับด้านระบบสุขภาพอาจต้องมีการประกันสุขภาพแบบร่วมจ่ายมากขึ้น นอกจากนี้ควรนำ big data มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการวิเคราะห์หากลุ่มเสี่ยงต่างๆ เพื่อการป้องกันก่อนเกิดเหตุ, ควรนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์และเกิดการพึ่งตนเอง โดยมีชุมชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น, ด้านสิ่งแวดล้อม ควรมีกฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อม มีกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เป็นต้น

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า การมองภาพอนาคต (Foresight) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการคาดการณ์และสร้างภาพอนาคตที่มีโอกาสเกิดขึ้นในระยะกลางและระยะยาว เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการออกแบบนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมฉับพลัน (Disruptive Changes)

ดังนั้น สวรส. จึงสนับสนุนให้มีการศึกษาฉากทัศน์อนาคตระบบสุขภาพไทยในปี 2566 โดยวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพในอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างรอบด้าน ซึ่งเชื่อว่าข้อมูลเชิงประจักษ์และข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัยดังกล่าว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพิจารณาวางแผนพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศและการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบและทันท่วงทีมากขึ้น