ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'เลอพงศ์' ยืนยันทำทุกอย่างเพื่อให้ถ่ายโอน รพ.สต. ราบรื่น แต่เป็นเพราะ สธ.ไม่ทำตามมติ-กฎหมาย จนบุคลากรได้รับผลกระทบ คาด ‘นพ.เจตน์’ ได้รับข้อมูลด้านเดียว และที่ผ่านมาไม่เคยสนับสนุนถ่ายโอนฯ


นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงประเด็นที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา และประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข วุฒิสภา อภิปรายในรัฐสภาเสนอให้รองนายกรัฐมนตรีเปลี่ยนตัวประธานอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ให้เป็นบุคคลที่คุยกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รู้เรื่อง โดยระบุว่า สิ่งที่คณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ดำเนินการมาโดยตลอด คือการยึดตามกฎหมายและมติของที่ประชุมทุกครั้ง แต่เป็นทาง สธ. เอง ที่ไม่ยอมรับ และไม่ปฏิบัติตามมติต่างๆ ของที่ประชุม ทั้งที่เป็นไปตามกฎหมาย จึงเป็นเหตุให้การถ่ายโอนเกิดปัญหา

นายเลอพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา นพ.เจตน์ อาจได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียว โดยเฉพาะจากฝั่งของ สธ. ที่อาจเป็นข้อมูลไม่ถูกต้อง จึงเกิดเป็นข้ออภิปรายในรัฐสภา อย่างไรก็ตาม แม้ นพ.เจตน์ จะบอกว่าเห็นด้วยกับการถ่ายโอน แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยสนับสนุนการถ่ายโอนเลย เพราะทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอด เพื่อขอให้ชะลอ หรือเลื่อนการถ่ายโอนมาตั้งแต่ปี 2564 

นายเลอพงศ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาระหว่างอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ และสธ. จะเป็นอุปสรรคอย่างแน่นอนสำหรับการถ่ายโอนที่จะถึงนี้ และยังไม่ทราบด้วยว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร เพราะทางอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ มีมติใดๆ ออกมา รวมไปถึงคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) มีมติออกมา ซึ่ง สธ. เองก็เข้าร่วมประชุมด้วย แต่กลับเป็นฝ่าย สธ. ที่ไม่ทำตามมติซึ่งเป็นข้อกฎหมาย 

“แม้จะทราบดีว่า สธ.ไม่เห็นด้วย แต่ในเมื่อเป็นมติที่ประชุม และเป็นข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2554 แล้ว สธ.ที่เป็นส่วนราชการเองก็ต้องปฏิบัติตาม เพราะการไม่ทำตามกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่ต้องการถ่ายโอน เนื่องจากขณะนี้กำลังเกิดความสับสนอย่างมาก” นายเลอพงศ์ กล่าว

นายเลอพงศ์ กล่าวว่า ยังมีประเด็นบุคลากร 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ ที่ต้องการถ่ายโอนไปองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพราะ สธ. เป็นฝ่ายบอกเองว่าหากผู้บังคับบัญชาอนุญาต ก็ให้ถ่ายโอนได้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจึงทำรายชื่อความพร้อม และมีหนังสือจากผู้บังคับบัญชาที่อนุญาตแนบไปด้วย แต่ฝ่าย สธ. กลับบอกว่า ผู้บังคับบัญชาไม่ได้หมายถึงหัวหน้าหน่วยบริการ แต่หมายถึงปลัด สธ. ทั้งที่เคยตกลงกันเอาไว้แล้วว่า ผู้บังคับบัญชาของบุคลากร คือหัวหน้าหน่วยบริการนั้นๆ ไม่ใช่ สธ. 

"ปลัดสธ. จะไม่รู้เลยว่าในหน่วยบริการ หรือโรงพยาบาล หากมีการถ่ายโอนไปแล้วจะมีปัญหาการให้บริการหรือไม่ คนที่รู้คือผู้อำนวยการโรงพยาบาลนั้นๆ จึงต้องให้มีการอนุญาตบุคลากรทั้ง 5 หน่วยงาน แต่ตอนนี้ บุคลากรกำลังไม่เข้าใจว่าต้องทำอย่างไร เพราะพร้อมที่จะถ่ายโอนไปแล้ว หรือบางส่วนไปทำงานที่ อบจ. แล้ว แต่ สธ. บอกว่าต้องกลับมาก่อน ยังเคลียร์ไม่จบ ทำให้ตอนนี้บุคลากรที่พร้อมจะไปถ่ายโอนได้รับผลกระทบอย่างมาก" นายเลอพงศ์ กล่าว