ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอชลน่าน’ รับบุคลากร รพ.สต. ถ่ายโอนแล้วขอกลับทำได้ แต่ต้องรอตำแหน่งว่าง รวมถึงเสียสิทธิประโยชน์ด้วย เผยมีแนวคิดให้ช่วยราชการรอตำแหน่ง 1 ปี ต่ออายุได้ 2 ครั้ง แต่หากแก้ไข สธ. ต้องแก้ระเบียบเพิ่มตำแหน่งในกระทรวง ย้ำยกเลิกถ่ายโอนไม่ได้เพราะกฎหมายสั่งให้เดินหน้า แต่ชะลอได้ 


วันที่ 9 ต.ค. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ตอบกระทู้ นพ.เจตน์ ศิรธรานนทท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เรื่องการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ของ สธ. ว่า กรณีบุคลากรที่ไม่ประสงค์ถ่ายโอนแต่ถูกถ่ายโอนไปแล้ว และขอย้ายกลับ ที่ขณะนี้มีจำนวนไม่มาก โดยเฉพาะสัดส่วนข้าราชการที่มีอยู่ประมาณ 200 คน จำเป็นต้องรอตำแหน่งจาก สธ. และให้ปฏิบัติหน้าที่ใน รพ.สต ที่ถ่ายโอนไปก่อน เพราะกฎหมายให้ปฏิบัติเช่นนี้

เนื่องจากการรับโอนกลับมา สธ. ก็ต้องสรรหา และจัดสรรตำแหน่งว่างให้กับบุคลากร ซึ่งอาจทำให้บุคลากรต้องรอตำแหน่งต่อไป โดยบางส่วนอาจมีตำแหน่งในสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลบริหารมากกว่าการให้บริการ ในส่วนแนวทางเยียวยาช่วยเหลือของ สธ. คือ ให้แจ้งความจำนงช่วยราชการ 1 ปี และต่ออายุช่วยราชการได้อีก 2 ครั้งๆ ละ 6 เดือน ระหว่างรอการแก้ไขกฎระเบียบ หรือหาตำแหน่งว่างรอการโอนกลับมายังสธ. 

"สธ. รับกลับมาได้ แต่ก็ต้องเกลี่ยตำแหน่ง หรือจัดสรรตำแหน่งให้ เพราะเมื่อมีการถ่ายโอนไปแล้วทุกอย่างก็ต้องส่งมอบไปทั้งหมด แต่บุคลากรก็ประสงค์ย้ายกลับมาได้ แต่ก็ต้องรอตำแหน่ง หรืออย่างเร็วที่สุดก็ต้องมีตำแหน่งใหม่รองรับ อยู่ที่จะต้องแก้ที่กฎระเบียบส่วนนี้ว่าจะให้โอกาสบุคลากรที่ไม่ประสงค์ขอย้ายไปหรือไม่ 

"บุคลากรเองต้องการโอนกลับมา ก็ต้องรอตำแหน่งว่างจริงๆ แต่ช่วงที่รอ สิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับก็ถูกตัดไปแล้ว ซึ่งยอมรับว่าเป็นปัญหา แต่ก็ต้องไปแก้ไขกัน" นพ.ชลน่าน ระบุ 

นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงข้อเสนอจาก สว. ที่ขอให้ยกเลิกการถ่ายโอนในปีงบประมาณ 2567-2568 ออกไป โดยรอผลการประเมินผลกระทบก่อน ว่า การถ่ายโอนไม่สามารถยกเลิกได้เพราะเป็นไปตามกฎหมาย แต่ชะลอได้ เพราะตามระเบียบไมได้ระบุว่าการถ่ายโอนต้องแล้วเสร็จเมื่อใด แต่ให้เป็นการถ่ายโอนด้วยความสมัครใจของ รพ.สต. และ สอน. แต่ละแห่ง รวมถึงการประเมินผลกระทบการถ่ายโอน ไม่ได้มีการศึกษาหรือประเมินในแนวทางให้ยกเลิก แต่ประเมินเพื่อให้เห็นอุปสรรคและหาแนวทางแก้ไขเพื่อให้การถ่ายโอนราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า บนเงื่อนไขการถ่ายโอนฯ สธ.ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ เพราะอำนาจการบริหารจัดการไปสู่พื้นที่ ชุมชน ที่จะมีส่วนร่วมด้านการจัดการสุขภาพมากที่สุด โดยแนวนโบายด้านสุขภาพของรัฐบาลเองได้ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นศูนย์กลางที่จะจัดบริการสุภาพ ไม่ยึดติดภารกิจของกระทรวงใด แต่เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกัน 

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า ในส่วนการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิกับประชาชน ก็ไม่มีผลกระทบแม้ว่าการถ่ายโอนอาจมีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากมีการแยกส่วนนโยบาย รวมถึงแผนขั้นตอนการถ่ายโอน ออกจากการให้บริการสุขภาพอย่างชัดเจน ทำให้การบริการสุขภาพกับประชาชนในระดับชุมชนทุกแห่งไม่มีผลกระทบ