ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘เลอพงศ์’ ระบุ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ถกเข้ม ‘การถ่ายโอนบุคลากรปีงบ 2567’ ให้ยึดมติจากคณะอนุกรรมการฯ ใช้ข้อมูลจาก สถ. ถ่ายโอนทั้งหมด ย้ำ อำนาจตัดสินเป็นของคณะอนุกรรมการฯ จะตีความเองไม่ได้ 


นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 6/2566 ตอนหนึ่งว่า เรื่องการถ่ายโอนบุคลากรในปีงบประมาณ 2567 ถือเป็นวาระสำคัญในการประชุม สำหรับเงื่อนไขการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยัง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในปี 2567 มีประเด็นที่แตกต่างกันในทางปฏิบัติ โดยทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการออกหนังสือเวียนชี้แจงแนวทางการถ่ายโอนฯ ที่ไม่ได้ใช้ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) 

ขณะที่มติคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ให้ยึดข้อมูลจำนวนบุคลากร และจำนวน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนตามข้อมูลจาก สถ. ทำให้ข้อมูลมีความแตกต่างกัน ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานสับสน ซึ่งในส่วนที่แตกต่างกันคือบุคลากรที่อยู่ใน 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ เพราะทาง สธ. ตีความว่าบุคลากร 5 หน่วยนี้ต้องเป็นลักษณะของการโอนย้าย แต่มติของคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ให้เป็นการถ่ายโอนทั้งหมด 

“จะเห็นข่าวบอกว่ากระทรวงสาธารณสุขบอกว่าในบุคลากร 5 หน่วย ถ้าไปรายงานตัวที่ อบจ. แล้ว ถ้าไม่กลับมาทำงานที่สาธารณสุขจะถือว่าขาดราชการ แต่ตอนนี้ก็ได้พูดย้ำไปแล้วว่าไม่ใช่ อำนาจการตัดสินเป็นอำนาจของอนุฯ กระจายอำนาจ ฉะนั้นแล้วทุกส่วนราชการต้องปฏิบัติตามมติของกระจายอำนาจ และก็ได้แจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขไปดำเนินการตามนี้” นายเลอพงศ์ ระบุ 

นายเลอพงศ์ กล่าวว่า อีกหนึ่งประเด็นที่ตัดออกคือเรื่องของบุคลากรที่แจ้งความประสงค์ถ่ายโอนไปยัง รพ.สต. เมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่ได้เป็นการถ่ายโอนตามภารกิจ ข้อนี้ก็ได้มีการชี้แจงในที่ประชุมไปว่าเป็นความเข้าใจผิด และจะตีความเองไม่ได้ เพราะมติของที่ประชุมยืนยันว่าเป็นข้อมูลจาก สถ. ฉะนั้น สธ. จึงไม่มีอำนาจพิจารณาว่าใครถูกหรือผิด ใครได้สิทธิหรือไม่ได้สิทธิถ่ายโอน ข้อนี้เป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจฯ ซึ่งในส่วนนี้ฝั่งตัวแทนจาก สธ. ก็ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่าจะรีบตรวจสอบข้อมูล

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติในประเด็นเรื่องการถ่ายโอนบุคลากรฯ นอกเหนือจากยึดบัญชีรายชื่อ รพ.สต. ของ สถ. ตามมติคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ แล้ว ให้บุคลากรที่สมัครใจและมีรายชื่ออยู่ในบัญชีของ สถ. เป็นบุคลากรถ่ายโอนทั้งหมด ไม่เป็นบุคลากรถ่ายโอนปกติ ให้ สธ. เสนอบัญชีรายชื่อของ สถ. ให้ อ.ก.พ. สธ. พิจารณาเห็นชอบการถ่ายโอนโดยด่วนที่สุดภายในวันที่ 15 ต.ค. 2566 

รวมถึง ให้สำนักงบประมาณ สนับสนุนงบประมาณให้ อบจ. จ่ายเป็นเงินเดือนและสิทธิสวัสดิการต่างๆ ของบุคลากรที่ถ่ายโอนฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 ให้บุคลากรที่มีรายชื่อตามบัญชีของ สถ. รายงานตัวที่ อบจ. และปฏิบัติงานที่ รพ.สต. ถ่ายโอน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 2566 

ขณะเดียวกัน สำหรับบุคลากรที่ไม่สมัครใจถ่ายโอนไปยัง อบจ. ให้ สธ. สั่งช่วยราชการที่ อบจ. ไปพลางจนกว่า สธ. จะเกลี่ยเฉพาะตัวบุคลากรที่ไม่ถ่ายโอนไปในตำแหน่งที่ว่างในสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ต่อไป และให้สำนักงบประมาณ และ สถ. ร่วมกันกำหนดแนวทางการสรรหาบุคลากรให้เต็มกรอบอัตรากำลังตามโครงสร้างขนาด รพ.สต. (S M L = 7, 12 และ 14) จัดทำแผนการสรรหาอัตราทดแทนให้ อบจ. เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณในระบบ BBL ต่อไป 

“ผมเองยังยืนยันว่า พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ มีมาตราที่เขียนไว้ว่าประกาศใดที่กระจายอำนาจได้ออกไปแล้ว มีผลผูกพันให้หน่วยงานราชการต้องปฏิบัติตามซึ่งเป็น พ.ร.บ.แม่ เมื่อเขียนไว้เช่นนี้ ประกาศกระจายอำนาจเรื่องการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. ถือว่าเป็นกฎหมาย ส่วนราชการทุกส่วนต้องปฏิบัติตาม และก็มาต่อที่ฉบับนี้ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนว่าอำนาจหน้าที่ของอนุฯ กระจายอำนาจด้านสาธารณสุขชุดนี้ ประธานมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยทุกเรื่องในภารกิจถ่ายโอน การวินิจฉัยของประธานถือเป็นที่สิ้นสุด เราเองปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอน” นายเลอพงศ์ ระบุ