ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.สุโขทัย ร่วมมือ 7 เครือข่ายช่วยผู้ป่วยบัตรทองคลุม 9 อำเภอ อนาคตพร้อมแบ่งโซนอำเภอ 3 โซน มีศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของหน่วยประจำจุด พร้อมดึงเกษียณที่ยังแข็งแรง เป็นแรงหนุนสร้างความเข้าใจสิทธิสุขภาพให้กับสูงวัยด้วยกัน


นางผ่องนภา เนียมน่วม ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เปิดเผยว่า ได้ช่วยเหลือประชาชน ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) ที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด โดยได้ประสานการช่วยเหลือกรณีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่ ให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา โดยเฉพาะกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาทางการแพทย์ให้ได้รับการเยียวยาจากสปสช.โดยเร็วที่สุด 

2

ทั้งนี้ การช่วยเหลือที่รวดเร็วนับตั้งแต่รับเรื่อง ไปจนถึงการลงพื้นที่และประสานส่งต่อข้อมูลให้กับคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 2 พิษณุโลก ซึ่งรับผิดชอบดูแลจ.สุโขทัยด้วย ให้ได้เข้าถึงผู้ป่วยและได้ช่วยเหลือเยียวยาได้ทันทีนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.สุโขทัย ได้สร้างเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ให้เกิดขึ้น และให้ครอบคลุมทุกอำเภอรวม 9 อำเภอ เพื่อทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน และคอยให้คำแนะนำกับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ อีกทั้งยังช่วยเหลือในกรณีที่อาจไม่ได้รับความสะดวกหรือเกิดปัญหาในการไปรับบริการสุขภาพ รวมถึงได้รับความเสียหายจาการรับบริการทางการแพทย์ 

นางผ่องนภา กล่าวอีกว่า เครือข่ายทั้ง 7 ด้าน ที่เข้าร่วมขับเคลื่อนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยสิทธิบัตรทองใน จ.สุโขทัย เกือบทั้งหมดเป็นภาคประชาชนในพื้นที่ อาทิ กลุ่มสตรี กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละอำเภอ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ป่วยในพื้นที่ และกลุ่มผู้ให้บริการ ซึ่งก็คือหน่วยบริการ และโรงพยาบาล ที่นอกจากจะช่วยผู้ป่วยสิทธิบัตรทองทั้งให้คำแนะนำ และช่วยเหลือในด้านอื่นๆ แล้ว ยังรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในแต่ละอำเภอ เพื่อส่งต่อมายัง ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.สุโขทัย เพื่อดำเนินการเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และส่งเรื่องต่อมายังสปสช.เขตพื้นที่ 2 เพื่อดำเนินการเข้าไปช่วยเหลือต่อไป 

3

นางผ่องนภา กล่าวด้วยว่า การให้เครือข่ายแต่ละกลุ่มได้เข้าไปแนะนำกับประชาชนในกลุ่มของตัวเองที่ใช้สิทธิบัตรทอง ถือว่าเป็นการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก โดยเครือข่ายได้รับการอบรม และแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์บัตรทองจาก สปสช.เขต 2 พิษณุโลก และศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.สุโขทัย ที่จะหมุนเวียนไปทุกอำเภอเพื่อประชุมร่วมกันกับเครือข่ายแต่ละกลุ่ม ทำให้เครือข่ายสามารถอัพเดตข่าวสาร สิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ที่สปสช.อาจมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้นำไปแจ้งกับประชาชนในพื้นที่ หรือประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทองในกลุ่มของเครือข่ายต่างๆ ต่อไป 

"เรากำลังจะเพิ่มเครือข่ายเข้ามาทำงานร่วมกันกับ ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.สุโขทัย โดยจะมีกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เป็นกลุ่มวัยเกษียณจากการทำงาน แต่ยังแข็งแรงและมีองค์ความรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้มาช่วยในการให้คำแนะนำถึงสิทธิในหลักประกันสุุขภาพ หรือสิทธิบัตรทอง กับผู้สูงอายุที่อยู่ด้วยกันในชุมชนให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุกของศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.สุโขทัย ที่เราเองก็มีบุคลากรน้อย แต่อาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายในจังหวัด  

4

นางผ่องนภา กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.สุโขทัย อนาคตนั้น ได้ร่วมพูดคุยถึงแนวทางการทำงานจากนี้กับสปสช.เขต 2 เบื้องต้นจะมีการแบ่งโซนอำเภอในจ.สุโขทัยทั้ง 9 อำเภอออกเป็น 3 โซนๆ ซึ่งแต่ละโซนจะมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนตามมาตรา หน่วย 50 (5) ประจำอยู่ในแต่ละพื้นที่ เพื่อคอยรับเรื่องร้องทุกข์ เรื่องไม่สบายใจจากการเข้ารับบริการสุขภาพในหน่วยบริการ เพื่อที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองที่อยู่ในโซนพื้นที่ จะได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ต่างจากเดิมที่ทุกอย่างจะต้องส่งมารวมศูนย์ยังศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองที่มีเพียงจุดเดียว แต่ต้องช่วยดูแลสิทธิบัตรทองทั้งจังหวัด 

“เป็นการทำงานเชิงรุกของศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.สุโขทัย ที่ออกไปให้บริการกับประชาชนสิทธิบัตรทอง โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านสุขภาพร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ และสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพของตัวเองที่ควรได้รับจากสิทธิบัตรทอง เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเข้าใจมากขึ้น” นางผ่องนภา กล่าว