ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนึ่งในวาระสำคัญที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ประกาศในระหว่างการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 คือ การแก้ไขปัญหา เด็กเกิดน้อย

นพ.ชลน่าน มั่นใจว่า รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีจะ ‘เอาด้วย’ และจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็น ‘วาระแห่งชาติ’

3

สภาพปัญหาเด็กเกิดน้อย กำลัง ‘เขย่าโครงสร้างประชากรไทย’ โดยข้อมูลจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ชี้ให้เห็นว่า หากนับย้อนหลังไปราว 20 ปี มาจนถึงปัจจุบัน พบว่าจำนวน ‘เด็กและแรงงาน’ ไทย มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับสัดส่วนของ ‘ผู้สูงอายุ’ จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

ปี 2564 ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีอัตราการตายมากกว่าอัตราการเกิด 

กล่าวคือ ประเทศไทยมีอัตราการ “ตาย” จำนวน 5.63 แสนคน มากกว่าการ “เกิด” ซึ่งอยู่ที่ 5.44 แสนคน และหากเทียบด้วยตัวเลขของ “อัตราการเจริญพันธุ์” (Fertility Rate) ที่หมายถึงจำนวนประชากรที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะเพิ่มให้กับสังคม พบว่าปัจจุบันเหลือเพียง 1.3 คน จากในอดีตที่เคยมากถึง 6 คน

2

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า เมื่อโครงสร้างประชากรของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเราเข้าสู่สังคมสูงอายุ ในขณะเดียวกันคนในปัจจุบันกลับไม่ต้องการมีบุตร จึงส่งผลให้เด็กเกิดน้อย 

ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ นอกจากจะต้องแสวงหาแนวทางทำให้เด็กเกิดมากขึ้นแล้ว ยังต้องมี “ระบบรองรับ” เพื่อให้เด็กที่เกิดขึ้นมาแล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดี เจริญเติบโตขึ้นอย่างมีสุขภาวะดี

นำมาสู่การจัดเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 4 หัวข้อ “เมื่อไทยเข้าสู่สังคมเด็กเกิดน้อย: ปัญหาและทางออก” เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2566 เพื่อฉายภาพผลกระทบในมิติสำคัญ แสวงหาแนวทางการแก้ปัญหา และสกัดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายส่งให้รัฐบาล รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2

อภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้ภาพมิติสังคมจากสถานการณ์เด็กเกิดน้อยว่า นอกจากเด็กเกิดน้อยแล้ว สิ่งที่ต้องพูดถึงต่อไปก็คือ ‘คุณภาพของประชาชกร’ “เพราะนอกจากเด็กจะเกิดน้อยแล้ว ส่วนหนึ่งยังเกิดในครอบครัวที่ขาดความพร้อม ทำให้ไม่มีพัฒนาการที่เหมาะสม

สำหรับ พม. มีโครงการที่ดูแลในทั้งสองด้าน คือส่งเสริมการมีลูกและทำให้เด็กที่เกิดมานั้นมีคุณภาพด้วย ไม่ว่าจะเป็น “เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด” เดือนละ 600 บาท ซึ่งจะจ่ายให้กับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนประมาณ 2.3 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีโครงการบ้านปลอดภัยสำหรับเด็ก โครงการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมในวัยรุ่น 

อภิญญา บอกว่า ทางออกของปัญหานี้คงไม่สามารถจัดการได้โดยใคร หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากจำเป็นที่ทุกส่วนจะต้องมาร่วมมือกัน เพราะทุกคนล้วนจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเด็กเกิดน้อยนี้ด้วยกัน โดยทางออกที่สำคัญคือการสร้างแรงจูงให้คนมีลูกเพิ่มขึ้น และทำให้เขามั่นใจว่าจะสามารถเลี้ยงลูกได้ภายใต้ภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

อภิญญา ยกตัวอย่างถึงเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ที่อาจปรับให้เป็นแบบสวัสดิการถ้วนหน้า หรือการปรับสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีอยู่กว่า 5 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ให้เพิ่มการรองรับอายุเด็กที่น้อยลง เปิดเวลารับเลี้ยงให้เร็วขึ้น เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถทำงานได้สะดวกขึ้น

2

ถัดมาเป็นมุมมองในมิติแรงงานโดย นันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ที่สะท้อนว่าปัญหาจากโครงสร้างประชากรที่บิดเบี้ยว ได้กระทบมาถึงจำนวนแรงงานที่ขาดหายไป ซึ่งที่ผ่านมานายจ้างส่วนใหญ่ก็ได้ใช้วิธีแก้ไขด้วยการนำเข้าแรงงานไร้ฝีมือจากต่างประเทศเข้ามาแทน

อีกมุมหนึ่งคือ ในขณะที่ “กลุ่มแรงงานต่างด้าว” กำลังได้รับแรงจูงใจจากนายจ้างด้วยสวัสดิการต่างๆ พบว่าความพยายามสนับสนุนให้แรงงานไทยมีลูกนั้นกลับ “มอดลงเรื่อยๆ” เช่น การผลักดันให้สถานประกอบการขนาดใหญ่ มีศูนย์เด็กเล็ก หรือศูนย์นมแม่ ที่กำลังมีแนวโน้มลดลง เพราะไม่มีเด็กเข้ามาใช้บริการ

1

“นายจ้างที่ต้องการจูงใจให้แรงงานต่างด้าวอยู่กับเขา เริ่มตั้งแต่การให้ที่พัก พอแรงงานอยู่ทำงานมา 5-10 ปี ก็เริ่มมีบุตร เขาก็จูงใจโดยเปิดศูนย์เด็กเล็ก จ้างครูมาสอนประจำ จึงเกิดเป็นภาพที่ตอนเช้าจูงมือลูกเข้าศูนย์เด็กเล็ก ตอนสายแม่แวะมาให้นมลูกได้ ตอนเที่ยงแวะมากินข้าวด้วยกันได้ พอโตจนเข้าโรงเรียน ทางโรงงานก็มีรถรับ-ส่งไปเรียนอีก ส่วนแรงงานไทยส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่นอกโรงงาน เดินทางไป-มาเอง เรากลับไม่ได้เห็นถึงสิ่งเหล่านี้ จึงเป็นภาพที่น่าสะท้อนใจ และต้องย้อนกลับมาดูว่าจะช่วยกันทำอย่างไร” นันทชัย ตั้งคำถาม

นอกจากนี้ เขายังระบุถึงสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ “ระบบประกันสังคม” ที่ปัจจุบันมี “คนจ่ายเงิน” น้อยกว่า “คนใช้เงิน” และจำเป็นต้องเร่งหาทางแก้ไข โดยอีกส่วนที่อาจเริ่มทำได้ก่อนคือการปรับสิทธิประโยชน์ ในเมื่อปัจจุบันจำนวนเด็กเกิดน้อย มีผู้มาเบิกสิทธิค่าคลอดบุตรหรือเงินสงเคราะห์บุตรน้อยลง ก็อาจนำงบประมาณเหล่านั้นมาเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก ที่ปัจจุบันยังต้องจ่ายเงินเอง

2

ในแง่สุขภาพ นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ ผู้อำนวยการกองมารดาและทารก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ปัญหาเด็กเกิดน้อยนั้นอาจมีปัจจัยในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐกิจ สังคม หรือกรอบวัฒนธรรมที่อาจมองว่าเส้นทางชีวิตคนต้องมีความพร้อมระดับหนึ่งจึงค่อยมีลูก รวมทั้ง “ภาวะมีบุตรยาก” ซึ่งเราควรต้องช่วยแก้ไข โดยในประเทศไทยมีแพทย์ที่ดูแลรักษาภาวะมีบุตรยากอยู่ราว 300 คน

ทั้งนี้ นพ.โอฬาริก ได้ให้ข้อเสนอโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มคนที่ไม่อยากมีลูก ไม่จำเป็นต้องทำแคมเปญอะไร เพราะเขาไม่อยากมีอยู่แล้ว 2. กลุ่มผู้มีบุตรยาก ต้องช่วยสนับสนุนโดยกำหนดเป็นชุดสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาให้ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ยอมรับว่าเป็นโรคแล้ว สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาได้ 3. กลุ่มที่ยังก้ำกึ่งว่าจะมีหรือไม่ ส่วนนี้จะเสนอให้มีนโยบายเป็นตัวช่วย 3 ประการ คือ เงิน เวลา คน

สำหรับ “เงิน” คือการมีงบอุดหนุน หรือสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยเงินอุดหนุนจะต้องสูงกว่าปัจจุบันจึงจะเพิ่มแรงจูงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเทอมโรงเรียน ควรนำมาลดหย่อนภาษีได้เต็มที่ ในขณะที่ “เวลา” คือวันลาการทำงาน ซึ่งในหลายประเทศสามารถลาคลอดบุตรได้นานถึง 1-1.5 ปี โดยในระหว่างลา รัฐและสถานประกอบการอาจร่วมกันจ่ายเงินเดือนคนละครึ่ง เพราะถือเป็นการลงทุนของประเทศ ขณะเดียวกันหลังกลับเข้ามาทำงาน ก็อาจให้แม่ได้มีช่วงเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อให้มีเวลาไปดูลูกด้วย ส่วนสุดท้าย “คน” ผู้ที่จะมาช่วยเลี้ยงดูเด็ก เช่น ศูนย์เด็กเล็ก, Day Care ซึ่งขณะนี้ประเทศญี่ปุ่น พบว่าในหลายเมืองมีการแข่งขันสร้างศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองนั้น

2

ฟากฝั่งวิชาการ สุภัค วิรุฬหาการุญ ผู้อำนวยการฝ่ายห้องปฏิบัติการนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมสะท้อนภาพปัญหาผ่านสถานการณ์จำนวนผู้เรียนที่เข้าสู่ระบบอุดมศึกษา ซึ่งมีแนวโน้ม ‘ลดลง’ อย่างต่อเนื่อง ราว 1.9% ต่อปี และเป็นที่น่าเสียดายว่าในบางคณะหรือบางหลักสูตรที่มีความน่าสนใจ มีความท้าทาย หรืออาจเป็นที่ต้องการของตลาด จำเป็นต้องปิดตัวลงเนื่องจากไม่มีผู้เรียน

ทั้งนี้ นอกจากสาเหตุของเด็กเกิดน้อยแล้ว ยังมีปัจจัยในเรื่องของทัศนคติ ที่เด็กเจนเนอเรชั่นใหม่มองไม่เห็นความจำเป็นของการศึกษาในระบบ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มองว่าสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ขณะที่ปัจจัยอีกส่วนยังเป็นการเข้าไม่ถึงการศึกษา ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ที่ยังดำรงอยู่ในสังคม

2

“ปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากเราไม่สามารถดึงเด็กเข้าสู่ระบบได้เพียงพอ ในอนาคตอาจทำให้เราขาดแคลนแรงงานทักษะสูง เมื่อวัยแรงงานที่เป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมีไม่มากพอ ก็จะกลายเป็นปัญหาลูกโซ่ตามมามากมาย แต่ในขณะที่เรามีเด็กเข้าระบบอุดมศึกษาลดลง ในส่วนของอาชีวศึกษา หรือสายอาชีพ มีจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นโจทย์ที่เราต้องร่วมกันพัฒนาทักษะ Up-Skill, Re-Skill กลุ่มแรงงานเหล่านี้ขึ้นมาด้วย” สุภัค ระบุ

สำหรับแนวทางออกของปัญหา ผู้แทนจาก สอวช. มองถึงความจำเป็นของงานวิจัย งานวิชาการ การใช้ฐานคิดทางวิทยาศาสตร์ที่จะเข้ามาร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ ถอดบทเรียนจากที่ต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมและตอบโจทย์ของประเทศ ขณะเดียวกันยังเป็นชุดข้อมูลความรู้ ที่ประชาชนสามารถนำมาใช้ในการวางแผนครอบครัว วิเคราะห์ว่าควรจะมีบุตรกี่คน ในช่วงเวลาใด เพื่อให้เด็กที่เกิดมาอยู่ในสังคมที่มีคุณภาพ ส่วนภาวะมีบุตรยาก ก็อาศัยนวัตกรรม เทคโนโลยี การเก็บไข่ ฯลฯ เข้ามาช่วยให้คนสามารถมีลูกได้เมื่อพร้อม

3

อีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการเป็นตัวแทนของภาคเอกชน ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 17-18 ยอมรับว่า ภาคเอกชนนั้นเป็นหนึ่งในจำเลยของการทำให้เด็กเกิดน้อย ซึ่งหากมองเฉพาะแรงงานในระบบที่มีอยู่ราว 10 ล้านคน ทั้งธุรกิจรายใหญ่ไปจนถึงรายเล็ก พบว่ากลุ่มแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานอยู่ในถิ่นกำเนิดของตนเอง แต่เป็นแรงงานย้ายถิ่นฐานเข้ามาในจุดต่างๆ ขณะเดียวกันภาระงานยังเป็นส่วนที่สร้างความเครียด ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กเกิดน้อยลง

“บางครอบครัว พ่อไปทาง แม่ไปทาง ทำงานอยู่คนละที่ หรือเวลาทำงานไม่ตรงกัน ก็ไม่ได้เอื้อให้เกิดการเจริญพันธุ์ ฉะนั้นต้องยอมรับว่าแม้ภาคเอกชนจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดรายได้ทางเศรษฐกิจ แต่ก็ตกเป็นจำเลยที่ทำให้เด็กเกิดน้อยด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าเรายังมีจำเลยชั้นดี คือภาคเอกชนหลายองค์กรที่มีมาตรการช่วยกระตุ้นให้พนักงานมีบุตร ไม่ว่าจะเป็นการให้วันลาหยุดเพิ่ม มีมุมนมแม่ หรือหลายองค์กรก็เริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ช่วยให้พนักงานเครียดน้อยลง ส่วนนี้คือตัวอย่างของภาคเอกชนที่ได้นำร่อง และสามารถนำเอาสิ่งดีๆ เหล่านี้ไปขยายผลเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป” ดร.สัมพันธ์ ระบุ

2

ในฐานะบทบาทของประธาน คจ.สช. เขายืนยันว่า เรื่องของ “เด็กเกิดน้อย” จะเป็นหนึ่งในวาระของ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ในช่วง 2 ปีนี้อย่างแน่นอน และขณะนี้ก็กำลังอยู่ระหว่างการประชุม รวบรวมข้อมูล เพื่อนำไปสู่กระบวนการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่จะนำทุกภาคส่วนเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ร่วมกัน เพราะปัญหานี้จำเป็นจะต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขให้ได้ภายใน 3-5 ปี

ทั้งหมดนี้จึงเป็นตัวสะท้อนว่า โจทย์การแก้ไขปัญหาด้านประชากร คงไม่ใช่การเพิ่มจำนวนในเชิง “ปริมาณ” เพียงอย่างเดียว แต่การยกระดับในเรื่อง “คุณภาพ” ก็เป็นความท้าทาย และที่สำคัญคือเรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องอาศัยการสานพลังและการแก้ไขด้วย ‘ระบบ’