ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘เลอพงศ์’ เผย ถ่ายโอน รพ.สต. ใกล้ครบ 1 ปี ยังมีปัญหาใหญ่ 2 เรื่อง ‘ทรัพย์สิน ที่ดิน อุปกรณ์ ครุภัณฑ์-จัดสรรเงินข้ามสังกัด’ จี้ให้ดำเนินการแล้ว คาดถ่ายโอนรุ่น 2 อาจพบปัญหาเดิม เชื่อ นโยบายใหม่ รมว.สธ เรื่องปฐมภูมิ-อนุทินนั่ง รมว.มท.จะทำให้เป็นไปในทิศทางที่ดี 


นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รุ่นแรกในปีงบประมาณ 2566 ที่กำลังจะครบ 1 ปี ในเดือน ต.ค. ที่กำลังจะถึงนี้ ยังพบว่ามีปัญหาใหญ่อยู่ 2 ประเด็น ได้แก่ การส่งมอบทรัพย์สิน ที่ดิน วัสดุ ครุภัณฑ์ และปัญหากฎระเบียบจากส่วนราชการ 

สำหรับปัญหาเรื่องการส่งมองทรัพย์สินฯ ทาง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังไม่สามารถส่งมอบให้แก่ อบจ. ได้แม้แต่แห่งเดียวจากที่ถ่ายโอนไปแล้ว 49 อบจ. เนื่องจากเจ้าของที่ดินที่ รพ.สต. ตั้งอยู่มีหลายหน่วยงานเป็นเจ้าของ เช่น กรมป่าไม้ กรมธนารักษ์ กรมศาสนา ฯลฯ บางแห่ง สธ. ไม่เคยทำเรื่องขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้หากส่งมอบไม่ได้ หรือไม่แล้วเสร็จ อบจ. ก็ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณลงไปเพื่อดำเนินการใน รพ.สต. ได้ เช่น การซ่อมแซม หรือสร้างห้องใหม่เพื่อให้บริการประชาชน ฯลฯ

“ตอนนี้กำลังไล่เรียงว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ที่ดินเป็นอย่างไร ซึ่งมติอนุฯ ถ่ายโอนเมื่อวันที่ 5 ก.ย. แจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขสำรวจว่า รพ.สต. แห่งใด จังหวัดใดที่มีปัญหาเรื่องส่งมอบ และติดขัดเรื่องอะไร เพื่อที่จะได้เชิญเจ้าของที่ดินตามส่วนราชการเข้ามาพูดคุยเพื่อหาทางออกต่อไป” นายเลอพงศ์ ระบุ 

นายเลอพงศ์ กล่าวต่อไปว่า อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นที่มาจากส่วนราชการที่มีกระทบมากคือทาง สธ. อ้างว่าระเบียบของ สธ. ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณข้ามสังกัดได้ ส่งผลให้มีปัญหาในการจัดสรรงบประมาณผ่านหน่วยบริการประจำที่เป็นคู่สัญญาในการจัดบริการปฐมภูมิ (CUP) ซึ่งในกฎหมายการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นก็ได้มีการระบุไว้ว่าอะไรที่เคยทำ ให้ทำเหมือนเดิม โดยให้ส่วนราชการที่ข้องดูว่ามีอะไรที่เป็นอุปสรรค หรือปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถทำตามเดิมได้ให้ดำเนินการแก้ปัญหา หากแก้ไม่ได้ก็อนุโลมให้มีการใช้ระเบียบเดิมไปพลางก่อน 

อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาในเบื้องต้นก็ได้มีการเร่งรัดให้ สธ. ดำเนินการจัดสรร ส่วนอีกหนึ่งวิธีคือให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาต (สปสช.) แก้ระเบียบหาหน่วยบริการแม่ข่ายและลูกข่ายสามารถตกลงกันได้ สปสช. ก็จะใช้วิธีการจัดสรรงบประมาณให้ รพ.สต. โดยตรง ซึ่งหลายแห่งก็ได้มีการดำเนินการไปแล้ว 

“ส่วนตัวก็เคยมีโอกาสโต้แย้งไป แต่ก็ยังไม่มีคำตอบว่ากรณีทีถ่ายโอนไป อบต. เทศบาลตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งมีมา 10 กว่าปีแล้วทำไมถึงจัดสรรจาก CUP ไปให้ รพ.สต. ได้ แต่พอมาถ่ายโอน อบจ. อ้างระบบตรงไหน” นายเลอพงศ์

นายเลอพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับการถ่ายโอน รพ.สต. รุ่นต่ออีก 933 แห่ง ไปน่าจะเป็นในลักษณะเดียวกัน เบื้องต้นก็ได้มีการมอบหมายให้ สธ. สำรวจทรัพย์สินแล้ว และในการประชุมนัดต่อไปก็จะมีการเชิญเจ้าของที่ดินเข้ามาคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน หากยังไม่สำเร็จก็อาจจะต้องส่งต่อไปยังคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป 

ทั้งนี้ เชื่อว่าการที่มีนโยบายใหม่จาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. ที่จะทำให้บริการปฐมภูมิในความเข้มแข็ง นอกจากนี้หลังจากได้มีโอกาพูดคุยก็พบว่ามีความคิดคล้านกัน คือการกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นนั้นมีเป้าหมายเพื่อให้ รพ.สต.เข้มแข็งขึ้น รวมไปถึงการที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล อดีต รมว.สธ. ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น รมว.มหาดไทย (มท.) ที่รู้เรื่องการถ่ายโอนฯ อยู่แล้ว เมื่อขยับมาอยู่ มท. ก็จะสามารถไล่เรียงดูสิ่งที่ยังไม่เอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ รพ.สต. ได้ ส่วนตัวมองว่าอาจจะทำให้การถ่ายโอนฯ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น