ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นพ.ชลน่าน” รมว.สธ. ร่วมประชุม “คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)” นัดแรกหลังรับตำแหน่ง มีมติแต่งตั้ง “นพ.สุเทพ เพชรมาก” ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คสช. คนใหม่ พร้อมรับทราบผลการสรรหากรรมการ คสช. ชุดใหม่


ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 5/2566 วันที่ 18 ก.ย. 2566 ซึ่งมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธาน คสช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบให้ นพ.สุเทพ เพชรมาก เป็นเลขาธิการ คสช. คนใหม่ ตามผลการคัดเลือกของคณะกรรมการบริหาร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คบ.) ที่มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน และเห็นชอบแผนการดำเนินงาน แผนการเงินและงบประมาณประจำปี งบประมาณ 2567 ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รวมทั้งรับทราบถึงผลการสรรหากรรมการใน คสช. ชุดใหม่ และความคืบหน้าการเตรียมการจัดสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา ครั้งที่ 2

1
 
นพ.ชลน่าน เปิดเผยในการประชุม คสช. ครั้งแรกว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ในวันนี้ได้เข้าร่วมประชุม คสช. ซึ่งเป็นกลไกที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบายด้านสุขภาพของประเทศ รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดำเนินงานด้านสุขภาพ ทั้งในระดับประเทศและพื้นที่ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยขณะนี้ก็กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของทีมเลขาธิการ และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่ที่จะเข้ามาร่วมทำหน้าที่ สานงานต่อจากคณะกรรมการชุดเก่าที่กำลังจะหมดวาระลงในเดือน ธ.ค. ปีนี้
 
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เพื่อให้การบูรณาการภารกิจด้านสุขภาพมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะนี้รัฐบาลมีแนวคิดที่จะผลักดันให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่เป็นเอกภาพ โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะทำหน้าที่พัฒนาขับเคลื่อนระบบสุขภาพ รวมถึงบูรณาการทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน ในขณะที่ คสช. ก็จะยังคงเดินหน้าทำงานด้านพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพคู่ขนานและหนุนช่วยกัน

3
 
สำหรับการประชุม คสช. ในครั้งนี้ ที่ประชุมมติเห็นชอบให้ นพ.สุเทพ เพชรมาก ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คสช. แทน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ที่กำลังจะหมดวาระการทำงานในวันที่ 20 ก.ย. 2566 และหลังจากนี้ จะมีการเสนอมติ คสช. ต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลงนามในคำสั่งแต่งตั้งต่อไป โดยในระหว่างนี้มี นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คบ.) ทำหน้าที่รักษาการแทนเลขาธิการฯ ไปก่อน 
 
ในส่วนของ นพ.สุเทพ เพชรมาก ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และผู้ตรวจราชการฯ เขตสุขภาพที่ 6 โดยในอดีตเคยดำรงตำแหน่งสำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่ง, เป็นข้าราชการการเมืองในตำแหน่งเลขานุการ รมว.สธ. ในยุคของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นรัฐมนตรี, เป็นรองอธิบดีกรมควบคุมโรค, ผู้ตรวจราชการเขต 6 และเขต 12 รวมทั้งยังเคยมีส่วนในคณะทำงานสนับสนุนวิชาการรัฐมนตรียุค นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สธ. ที่ร่วมผลักดันและติดตามความก้าวหน้าของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ด้วย

3
 
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า การประชุมวันนี้ซึ่งถือเป็นครั้งส่งท้ายในฐานะเลขาธิการ คสช. อยากจะขอขอบคุณกรรมการทุกภาคส่วน ที่ได้ให้การสนับสนุนในการดำเนินภารกิจสานพลังสร้างสังคมสุขภาวะดีร่วมกันตลอด 4 ปีที่ผ่านมา และเห็นว่า นพ.สุเทพ เพชรมาก ที่จะรับหน้าที่เป็นเลขาธิการ คสช. คนใหม่ เป็นแพทย์ชนบทที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ด้านการบริหารระดับสูงทั้งภายในกระทรวงสาธารณสุข และเคยเป็นข้าราชการการเมืองในตำแหน่งเลขานุการ รมว.สธ. มาก่อน จึงเป็นผู้มีความเหมาะสมในการรับไม้ต่อเป็นเลขาธิการ คสช. คนต่อไปอย่างมาก
 
ขณะเดียวกัน ที่ประชุม คสช. ยังได้เห็นชอบแผนการดำเนินงาน แผนการเงินและงบประมาณประจำปี งบประมาณ 2567 ของ สช. และได้รับทราบผลการสรรหากรรมการใน คสช. ชุดใหม่ หรือชุดที่ 5 ในกลุ่มต่างๆ ประกอบด้วย กลุ่มผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 4 คน กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ จำนวน 6 คน และกลุ่มผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรฯ จำนวน 13 คน ซึ่ง คสช. ชุดใหม่นี้จะเข้าทำหน้าที่ต่อจาก คสช. ชุดปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 2566 - 6 ธ.ค. 2570

3
 
ด้าน นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ในฐานะประธานกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา (คจ.สพ.) ที่ คสช. แต่งตั้ง กล่าวว่า ในส่วนของเมืองพัทยา ได้เสนอความคืบหน้าการเตรียมการจัดสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา ครั้งที่ 2 ซึ่งได้มีการเตรียมประเด็นเพื่อพัฒนาเป็นระเบียบวาระสมัชชาฯ จำนวน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1. ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา 2. ธรรมนูญสุขภาพกลุ่มอาชีพ และ 3. ธรรมนูญสุขภาพเกาะล้าน โดยล่าสุดในส่วนของ ‘ธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน’ ได้มีการประกาศใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566
 
“เกาะล้าน ถือเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีความสำคัญกับเมืองพัทยา แต่ก็ตามมาด้วยผลกระทบในด้านต่างๆ จากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น ดังนั้นการที่ชุมชนร่วมกันประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพฯ จะมีส่วนในการเข้ามาช่วยพัฒนาให้เกาะล้าน กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างสมดุลในคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และจะเป็นแนวทางในการทำงาน สร้างการมีส่วนร่วม ที่ขยายผลการขับเคลื่อนเป็นต้นแบบสู่การยกร่างธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา และธรรมนูญสุขภาพกลุ่มอาชีพได้ต่อไป” นายปรเมศวร์ กล่าว