ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักข่าว The Japan Times รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยตัวเลขการเกิดของประชากรในญี่ปุ่นเมื่อช่วงสิ้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา โดยรวบรวมทั้งคนญี่ปุ่น และคนต่างชาติที่พำนักอยู่ ตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย. 2566 ซึ่งพบว่ามีการให้กำเนิดประชากรทั้งหมด 371,052 คน ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.6%

ทั้งนี้ จำนวนการเกิดดังกล่าวทำให้คาดกาณ์ได้ว่าตลอดทั้งปี 2566 จะมีการเกิดต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลวางเอาไว้คือ 8 แสนคน และคาดว่าจะต่ำกว่าการเกิดในปี 2565 ที่มีทั้งหมด 799,728 คน โดยจะทำให้ญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ 

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข สังคม และแรงงานของญี่ปุ่น ที่ระบุด้วยว่า อัตราการเกิดใน 6 เดือนแรกของปี 2566 ชะลอตัวช้าลงถึง 5% เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งเป็นข้อมูลที่รวบรวมทั้งคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงชาวต่างชาติที่พำนักในญี่ปุ่นด้วย 

สาเหตุสำคัญที่ทางการญี่ปุ่นค้นพบจากสถานการณ์นี้คือ ประชากรญี่ปุ่นในวัยทำงาน และในช่วงวัยที่ต้องแต่งงาน มีแน้วโน้มที่จะเลือกใช้ชีวิตแบบไม่แต่งงาน หรือเลือกไม่มีคู่ครองมากขึ้น โดยปัจจัยสำคัญของการเลือกดังกล่าวมาจากจำนวนรายได้ที่มองว่าอาจไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูลูก หากต้องมีขึ้นมาสักคนในครอบครัว 

ในสัดส่วนการแต่งงานของคนญี่ปุ่นในช่วง 6 เดือนแรกของปี พบว่า ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหลือเพียง 246,332 คนที่เข้าพิธีแต่งงาน หรือลดลงไป 7.3% 

ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า มีผู้สูงอายุเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 797,716 คน หรือคิดเป็น 2.6% ทำให้ประชากรลดลงจากความไม่สมดุลระหว่างการเกิดและการตายถึง  426,664 คน  

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า ประชากรเพศหญิง 1 คน ตลอดช่วงชีวิตจะสามารถให้กำเนิดบุตรได้ 1.26 คน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยในระดับที่ต่ำอย่างมากเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ และยังเป็นอัตราที่ต่ำมาตั้งแต่ปี 2548 อีกด้วย 

อีกทั้งยังพบอีกด้วยว่า ผู้ชายในวัยทำงานที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป มีโอกาสสูงที่จะไม่แต่งงาน หากพบว่ารายได้ต่อปีลดลง

ทำให้ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2566 รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ระบุลงไปในสมุดปกขาว ซึ่งเป็นรายงานสภาพความจริงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสถานการณ์ทั่วไปของประเทศว่า การเพิ่มรายได้ประชากรให้มากขึ้น โดยผลักดันให้เป็นนโยบายของประเทศ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง  

เนื่องจากการเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มคนวัยทำงาน และคนหนุ่มสาวเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยแบ่งเบาภาระการเงินในครอบครัว เพื่อจะได้เพิ่มโอกาสที่ดีในการกระตุ้นให้คู่แต่งงานแล้วมีบุตรมากขึ้น 

ทั้งนี้ แม้วัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น การหารายได้ให้ครอบครัว มักจะตกเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายชาย ขณะที่ฝ่ายหญิงทำหน้าที่ดูแลบ้าน 

แต่ในปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ส่งเสริมให้ผู้หญิงได้ออกมาทำงานเพื่อช่วยเหลือด้านรายได้ให้ครอบครัวมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเริ่มขาดแคลนแรงงานจากการเกิดที่ลดลง และอีกด้านก็เพื่อให้มีรายได้ในครอบครัวมากขึ้น นำไปสู่การมีลูก 

อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้งหมดที่กล่าวมานี้กลับไม่ได้ผลที่ดีมากนัก เพราะสัดส่วนการเกิดยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ปีละ 8 แสนคน และคาดว่าจะเป็นปัญหาในระยะยาวให้กับประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนด้านสุขภาพ และการดูแลสุขภาพของประชาชนในประเทศเอง 

ที่มา : https://www.japantimes.co.jp/news/2023/08/30/japan/science-health/japan-births-drops-january-june/