ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักข่าว Japan Times ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ถึงบทบาทญี่ปุ่นในเวทีสุขภาพโลก เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุถึงความโดดเด่นของญี่ปุ่นในด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และองค์ความรู้การป้องกันโรค

ญี่ปุ่น ริเริ่มการตรวจโรคด้วยเครื่องมือเอ็กซเรย์ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2490 ขยายการเข้าถึงยาต้านโรคความดัน และการตรวจร่างการหญิงมีครรภ์ ทั้งหมดนี้ให้บริการฟรีภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

เช่นเดียวกับการรักษาโรคที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายจากประชาชนเช่นกัน ทำให้กรณีที่ผู้ป่วยจะล้มละลายจากการรักษาพยาบาลมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก

ในด้านนโยบายส่งเสริมศักยภาพระบบสุขภาพ ก็มีความโดดเด่นเช่นกัน เช่น การทำนโยบาย “หนึ่งจังหวัด หนึ่งโรงเรียนแพทย์” ซึ่งแพทย์ที่จบจากสถาบันนี้ต้องทำงานใช้ทุนในพื้นที่จังหวัดนั้นนเป็นระยะเวลา 9 ปี เป็นการเพิ่มจำนวนแพทย์ให้ทันความต้องการ และลดความเหลื่อมล้ำด้านบุคลากรระหว่างจังหวัด

นี่เป็นเพียงภาพส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโมเดลที่ประเทศกำลังพัฒนาทำการศึกษา เพื่อนำมาประยุกต์ทำหลักประกันสุขภาพถัวนหน้าในประเทศของตน

ระบบสุขภาพยังเป็นเครื่องมือที่ญี่ปุ่นใช้เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้วยการสร้างภาคีด้านสุขภาพในเวทีการประชุมระดับโลก มีองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) หรือไจก้า เป็นหัวเรือในการขับเคลื่อนนโยบายในด้านนี้

3

ไจก้าให้การสนับสนุนทางการเงินและองค์ความรู้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพและทักษะบุคลากรทางการแพทย์ ไปจนถึงการทำนโยบายเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ

ยกตัวอย่างเช่น ในระหว่างการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ไจก้าทำโครงการยกระดับระบบการรักษาและการตรวจโรคใน 22 ประเทศ และอบรมบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 2,500 คน ใน 11 ประเทศ ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นบริจาคเงินมากกว่า 1.7 แสนล้านบาทให้ประเทศกำลังพัฒนาต่อสู้กับโรคระบาด

แม้กระทั่งก่อนเกิดโรคระบาด ญี่ปุ่นก็เป็นผู้นำด้านนโยบายสุขภาพอยู่แล้ว โดยเฉพาะด้านการสร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยญี่ปุ่นเสนอแนวทางให้สุขภาพเป็น “ความมั่นคงแห่งมนุษย์” และใช้แนวทางนี้ในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ

ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศ G7 ที่นำประเด็นการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าสู่เวทีการประชุมกลุ่มประเทศ G7 ณ เมืองอิเสะชิมะ ในปี 2559 และให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นได้จริงในประเทศกลุ่มแอฟริกาและเอเชีย

ในปี 2560 ญี่ปุ่นร่วมจัดการประชุม UHC Forum ร่วมกับธนาคารโลก องค์การอนามัยโลก และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเปิดเวทีให้ผู้นำ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสุขภาพ และองค์กรภาคประชาสังคมจากกว่า 30 ประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหา ทางออก และประสบการณ์ในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศของตน

กลุ่มผู้นำประเทศยังร่วมกันรับรองปฏิญญาณโตเกียวว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Tokyo Declaration on Universal Health Coverage) ซึ่งบันทึกคำมั่นสัญญาของแต่ละประเทศที่จะสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จภายในปี 2573

ในการประชุมกลุ่มประเทศ G7 ณ เมืองฮิโรชิมะ ระหว่างวันที่ 19-21 พ.ค. ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยังคงแสดงจุดยืนผลักดันวาระสุขภาพในการะประชุม แม้ว่าประเทศอื่นๆจะวนเวียนอยู่กับประเด็นปัญหาสงครามยูเครน

ความก้าวหน้าในด้านนโยบายสุขภาพญี่ปุ่นจะไม่เกิดขึ้นเลย หากผู้นำไม่สนใจประเด็นด้านนี้

3

เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ เขียนบทความลงในนิตยสารทางการแพทย์ เดอะ แลนเซต (The Lancet) เสนอให้นานาประเทศร่วมมือกันปิดช่องว่างในระบบสุขภาพที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคระบาด ด้วยการยกระดับระบบการป้องกันโรค การเตรียมพร้อม และตอบสนองต่อโรคระบาด

รวมทั้งต้องสร้างความยั่งยืนให้กับระบบสุขภาพ ด้วยการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เขาเชื่อว่าแนวคิดการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ด้วยนโยบายสุขภาพ เป็นหัวใจที่ทำให้ความร่วมมือนี้เกิดขึ้น

คิชิดะ ยังเสนอแนวทางการยกระดับการป้องกันโรคระบาดในอนาคต โดยนานาประเทศและองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลให้มากกว่านี้ และส่งเสริมการพัฒนาวิจัยด้านยาและการตรวจโรค ที่สามารถหยุดยั้งโรคระบาดได้แต่เนิ่นๆ

เขายังเน้นย้ำความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ รวมทั้งแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยกลุ่มประเทศ G7 ควรหาแนวทางสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพในอนาคต

อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นยังมีเรื่องต้องให้ทำอีกมากในด้านการยกระดับเทคโนโลยีด้านข้อมูลสุขภาพ

รายงานจากหอการค้าอเมริกา เผยแพร่เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 ระบุว่า ญี่ปุ่นมีข้อมูลสุขภาพดิจิทัลจำนวนมาก แต่ยังมีความท้าทายเรื่องการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากขาดความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล และองค์กรต่างๆยังทำงานแบบแยกส่วน ไม่แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

บทวิเคราะห์สรุปว่า แม้จะยังมีความท้าทายอีกมากมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าญี่ปุ่นมีประสบการณ์และองค์ความรู้ ที่จะผลักดันให้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นได้จริงทั่วโลก ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นสุขภาพในเวทีโลก และชักจูงให้ประเทศพัฒนาร่วมผลักดันประเด็นสุขภาพไปด้วยกัน

อ่านข่าวต้นฉบับ : https://www.japantimes.co.jp/2023/05/19/special-supplements/japan-remains-keen-supporter-universal-health-care/