ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การมีอายุยืนยาว อาจเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่ใน ฮ่องกง และ ญี่ปุ่น ประเทศที่มีประชากรอายุยืนยาวสูงที่สุดในโลกอาจไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งสองประเทศกำลังเผชิญปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะกับการขาดแคลนพยาบาลที่จะมาดูแลผู้สูงอายุ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต

สื่อต่างประเทศรายงานโดยอ้างอิงจากข้อมูลของรัฐบาลฮ่องกง และญี่ปุ่น โดยพบว่าอายุขัยของผู้หญิงฮ่องกงเมื่อปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 86.8 ปี ขณะที่ญี่ปุ่นพบว่ามีอายุขัยเฉลี่ย 87.1 ปี

ข้อมูลระบุด้วยว่า อายุขัยของประชากรเพศชายชาวฮ่องกง จะอยู่ที่ 80.7 ปี ซึ่งก็ถือว่าเป็นอายุเฉลี่ยที่สูงมาก แต่ก็ยังไม่เท่ากับญี่ปุ่น สวีเดน และนอร์เวย์ ขณะที่สิงคโปร์ เป็นอีกประเทศในเอเชียที่อายุขัยของเพศชายเท่ากับฮ่องกงด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น แต่ชาวฮ่องกงกลับต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพทั้งทางกายและทางใจอย่างหนัก ซึ่งสาเหตุมาจากความเครียด ค่าครองชีพที่สูง ที่อยู่อาศัยที่แออัด และสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต ซึ่งส่งผลต่อความไม่มั่นคงในชีวิต อีกทั้งยังต้องเผชิญกับความไม่สงบในสังคมอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดทำให้ชาวฮ่องกงเริ่มมีปัญหาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตมากขึ้น

นอกจากนี้ แม้ประชากรฮ่องกงจะมีอายุยืน แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาก็ทำให้ผู้สูงอายุต้องเสียชีวิตไปจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่อยู่อาศัยของชาวฮ่องกงที่แออัดและหนาแน่น ทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย และการฉีดวัคซีนก็ยังไม่ทั่วถึงอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่น แม้จะเป็นประเทศที่มีประชากรอายุยืนด้วยเช่นกัน แต่ล่าสุดก็พบว่าต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนพยาบาล รวมถึงนักบริบาลที่ดูแลผู้สูงอายุ โดยรัฐบาลคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2040 หรือในปี พ.ศ. 2583 ญี่ปุ่นจะต้องการพยาบาลเพื่อมาดูแลผู้สูงอายุมากถึง 2.8 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศหาแรงงานต่างชาติที่มีทักษะในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้เข้ามาเป็นแรงงานในประเทศ และสามารถดูแลผู้สูงอายุได้ที่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนนักบริบาลหรือผู้ดูแลผู้สูงอายุ ที่ตอนนี้ก็ขาดแคลนอย่างหนัก และมีทีท่าว่าสถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้น ด้วยปัจจุบันนักบริบาล 1 คน จะมีผู้สูงอายุที่ต้องการให้ดูแลที่บ้านมากถึง 15 คน

แต่เดิม นักบริบาล หรือผู้ดูแลที่เป็นชาวต่างชาติ จะสามารถดูแลผู้สูงอายุที่บ้านได้แบบกลุ่ม ไม่ใช่การดูแลแบบรายบุคคล และญี่ปุ่นเปิดรับแรงงานจากต่างประเทศที่มีข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานกลุ่มนี้ บวกกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นได้เห็นพ้องในหลักการที่จะเปิดรับแรงงานต่างชาติโดยตรงเพื่อให้เข้ามาทำงานมากขึ้น โดยจะมีการเปิดรับในปี ค.ศ. 2025 หรือปีหน้านี้ และวางเป้าหมายมีนักบริบาลต่างชาติเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นจำนวน 1.3 แสนคน ในปี ค.ศ. 2028

เงื่อนไขเบื้องต้นคือ นักบริบาลต่างชาติต้องมีคุณวุฒิทางวิชาชีพ และผ่านการรับรองจากสถาบันรับรองในประเทศที่มีมาตรฐาน รวมถึงต้องผ่านการทดสอบความสามารถด้านภาษาระดับ N4 ซึ่งเป็นระดับที่สามารถเข้าใจภาษาญี่ปุ่นขั้นพื้นฐาน

อย่างไรก็ตามสำหรับ ประเทศไทย ที่เป็นสังคมผู้สูงอายุแล้วด้วยเช่นกัน และกำลังจะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดในปี พ.ศ.2580 ที่จะมีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งหากดูอายุขัยเฉลี่ย จะพบว่าเพศชายมีอายุ 73.5 ปี เพศหญิง 80.5 ปี

ในส่วนแผนการดูแลผู้สูงอายุของไทยจากนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะมุ่งเน้นจัดให้มี ศูนย์ชีวาภิบาล โดยให้ดูแลประชากรสูงอายุตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งศูนย์ชีวาภิบาลในโรงพยาบาล จะเป็นระบบริการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งการดูแลระยะยาว (Long-Term Care) การดูแลประคับประคองระยะท้าย (Palliative Care) และเชื่อมโยงระบบบริการปฐมภูมิ (Primary Health Care) ตั้งแต่การดูแลในโรงพยาบาล จนถึงบ้านและชุมชน 

สำหรับการดูแลจะมุ่งเน้นให้เป็นองค์รวมครอบคลุมสุขภาพทั้ง 4 มิติ คือ กาย จิตใจ สังคม และปัญญา อย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลสู่บ้านและชุมชน โดยไม่ถูกทอดทิ้งไว้เพียงลำพัง ลูกหลานสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้ตามปกติ อันเป็นการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยนับจนวาระสุดท้ายของชีวิต
 
อ้างอิง:
https://www.japantimes.co.jp/news/2024/01/17/asia-pacific/science-health/hong-kong-life-expectancy/
https://asia.nikkei.com/Spotlight/Japan-immigration/Japan-to-let-more-foreigners-work-as-in-home-caregivers
https://phdb.moph.go.th/main/upload/web_news_files/c8214x94sx4ogookg8.pdf