ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดการประชุมระดับสุดยอด “Traditional Medicine Global Summit” ส่งเสริมบทบาทการใช้ยาแผนโบราณ รวมถึงส่งเสริมแพทย์พื้นบ้านของแต่ละประเทศในระดับสุดยอดครั้งแรกของโลก ระหว่างวันที่ 17-18 ส.ค. 2566 ที่เมืองคานธีนคร ประเทศอินเดีย โดยเชิญรัฐบาลประเทศสมาชิกทั่วโลก ซึ่งเน้นย้ำไปถึงผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของแต่ละรัฐบาล นักวิทยาศาสตร์ แพทย์แผนโบราณ และภาคประชาสังคม

มีเป้าหมายเพื่อขยายความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ที่เชื่อมโยงมาถึงความรู้ที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของการใช้ยาแผนโบราณ ยาสมุนไพรเพื่อสุขภาพของคนทั่วโลก โดย WHO มุ่งหวังว่ายาแผนโบราณ และการแพทย์พื้นบ้านจะช่วยรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพที่เร่งด่วน และร่วมผลักดันให้มีการพัฒนาระบบสุขภาพอย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ ในการประชุมได้มีการสำรวจการวิจัยและการประเมินยาแผนโบราณ รวมถึงวิธีการที่สามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาให้การวิจัยยาแผนโบราณในระดับโลก ซึ่งผลการวิจัยจากการทบทวนยาแผนโบราณและสุขภาพอย่างเป็นระบบ จะเป็นหลักฐานที่ช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถพัฒนากลไกและแนวทางนโยบายที่เหมาะสม สำหรับดูแล ควบคุมคุณภาพ และติดตามประเมินผล ตามบริบทและความต้องการของประเทศ

2

ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าวว่า ยาแผนโบราณมีบทบาทในการช่วยให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของแต่ละประเทศมีผลสำเร็จได้ เพราะการนำยาแผนโบราณเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพในปัจจุบัน จะเป็นการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้ ยาแผนโบราณที่มีผลการวิจัยเชิงประจักษ์ และมีความปลอดภัยต่อสุขภาพ จะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนทั่วโลกได้ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญสู่การสร้างแนวทางระบบสุขภาพแบบองค์รวม โดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง 

ผู้อำนวยการใหญ่ WHO สะท้อนอีกว่า ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศให้ความสำคัญกับยาแผนโบราณมากขึ้น หลังมีการประชุมระดับสูงของสหประชาชาติ (UN) ว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อปี 2562 โดยเฉพาะการนำไปใช้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ที่เป็นรากฐานสำคัญของระบบสุขภาพในภาพใหญ่ของประเทศ ซึ่งยาแผนโบราณ รวมถึงองค์ความรู้ของแพทย์พื้นบ้าน แพทย์พื้นถิ่นยังได้รับการยอมรับจากหลายภาคส่วนทั่วโลก 

"เพราะยาแผนโบราณจะมีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมของผู้คน ที่สะท้อนถึงสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับการพัฒนาเพื่อยกระดับ 'เศรษฐกิจภาคสาธารณสุข' สำหรับผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก" ดร.ทีโดรส กล่าวเสริม

มากไปกว่านั้น การประชุมครั้งนี้จะมีการทบทวน และสำรวจความสำคัญของการใช้ยาแผนโบราณ โดยเฉพาะการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์โควิด-19 ซึ่งยาแผนปัจจุบันที่นำมาใช้ก็มีรากฐานมาจากยาแผนโบราณ เช่น การวิจัยทางเภสัชวิทยา การวิจัยทางชาติพันธุ์วิทยา จะมีส่วนช่วยระบุยาใหม่ที่ใช้ในปัจจุบันให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพทางคลินิก 

4

ขณะเดียวกัน การแพทย์สมัยใหม่ในปัจจุบัน เช่น การแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics Medicine) ที่เป็นการแพทย์แม่นยำ ก็จะช่วยเปิดพรหมแดนความรู้ใหม่ๆ ให้กับยาแผนโบราณผ่านการวิจัยด้วยเช่นกัน 

กระนั้น WHO ได้ระบุด้วยว่า การใช้ยาแผนโบราณที่เพิ่มมากขึ้น จะต้องมีมาตารการที่เข้มข้นในการควบคุมความปลอดภัย และประสิทธิภาพ ที่เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดอันดับแรกสำหรับหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพราะทุกอย่างในธรรมชาติไม่ได้แปลว่าปลอดภัยเสมอไป อีกทั้งการใช้ยามาหลายร้อยปีจากองค์ความรู้เดิม ไม่อาจรับประกันได้ว่าจะมีผลดีต่อสุขภาพในปัจจจุบัน 

ดร.จอห์น รีดเดอร์ ผู้อำนวยการโครงการพิเศษเพื่อการวิจัยและฝึกอบรมโรคเขตร้อนของ WHO กล่าวว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของการแพทย์แผนโบราณ ควรเป็นไปตามมาตรฐานที่เข้มงวด เช่นเดียวกับในสาขาสุขภาพอื่นๆ ต้องมีการทบทวนกระบวนการคิดใหม่เกี่ยวกับแนวทางการจัดการยาแผนโบราณอย่างถูกต้อง ซึ่งต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนและนำไปสู่ข้อกำหนดทางนโยบายเกี่ยวกับการใช้ยาแผนโบราณอย่างถูกต้องในแต่ละประเทศ 

อ่านข่าวต้นฉบับ :
https://www.who.int/news/item/10-08-2023-who-convenes-first-high-level-global-summit-on-traditional-medicine-to-explore-evidence-base--opportunities-to-accelerate-health-for-all