ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บริการสุขภาพหลายประเภทต้องหยุดชะงักหรือเลื่อนออกไป โดยเฉพาะบริการรักษาโรคที่ไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน การผ่าตัด และวินิจฉัยโรค โดยการนัดหมายพบแพทย์ต้องเปลี่ยนเป็นการปรึกษาบนโลกออนไลน์ 

การรักษาบางประเภท เช่น การตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด ต้องให้ผู้ป่วยทำที่บ้านด้วยตนเอง ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากหมดไฟ หรือป่วยจากการรับมือโรคระบาดที่หน้าด่าน ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากร

นอกจากนี้ ผู้ป่วยเองก็หลีกเลี่ยงการรับบริการสุขภาพ เพราะกังวลต่อการติดเชื้อไวรัส หรือไม่ต้องการเป็นภาระของใครในช่วงวิกฤต

สถานการณ์เหล่านี้ได้ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายตามหน้าสื่อและงานวิจัย แต่กลับไม่มีการติดตามผลกระทบของภาวะชะงักงันในการให้บริการต่อสุขภาพผู้ป่วยในระยะยาว กรีนและทีมวิจัยจึงทำวิจัยเพื่อตอบคำถามนี้ 

มาร์ค กรีน (Mark Green) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล (University of Liverpool) ตีพิมพ์งานวิจัยตัวใหม่ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยในสหราชอาณาจักรที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพในช่วงการระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะเข้ารับการรักษาโรคที่สามารถป้องกันได้ในภายหลัง

เขาใช้ข้อมูลประชากรจำนวน 29,276 คนในสหราชอาณาจักร ที่ร่วมทำแบบสำรวจในงานศึกษาอื่น 7 ชิ้น ระหว่างวันที่ 1 มี.ค. 2563 ถึง 25 ส.ค. 2565 แบบสำรวจนี้ครอบคลุมคำถามเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการสุขภาพในช่วงโรคระบาด จากนั้นจึงนำข้อมูลนี้มาประติดประต่อกับบันทึกการใช้บริการสุขภาพของผู้ทำแบบสำรวจ 

กรีนและทีมวิจัยพบว่า 35% ของผู้ป่วยประสบปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพในช่วงปีแรกของการระบาด โดย 26% เจอปัญหาในการนัดหมายกับแพทย์ และ 18% ไม่สามารถรับบริการต่อเนื่อง เช่น การผ่าตัด และการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นประเภทบริการที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดมากที่สุด

ขณะที่ 80% ของผู้ป่วยเหล่านี้มีแนวโน้มเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคที่ป้องกันได้เมื่อโรคระบาดคลี่คลาย แบ่งเป็นสองโรคหลัก คือ โรคที่เป็นในระยะสั้น เช่น กรดในกระเพาะอาหาร โรคทางทันตกรรม และโรคเยื้อเยื่อเซลล์อักเสบ และโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด แน่นอก และความดันโลหิตสูง

อย่างไรก็ดี งานวิจัยพบว่าการเข้าถึงยากลับไม่เป็นปัญหามากนัก มีผู้ป่วยเพียง 6% ที่ประสบปัญหาการเข้าถึงยาในช่วงโรคระบาด และไม่มีผลต่อการเข้าโรงพยาบาลภายหลังการระบาด 

แม้ว่าข้อค้นพบนี้จะน่าสนใจ แต่งานวิจัยยังมีข้อจำกัดอยู่หลายข้อ เช่น ไม่สามารถวัดขนาดผลกระทบที่เกิดจากการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ไม่สามารถบ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะชะงักงันของบริการสุขภาพในแต่ละช่วง กับประเภทการเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลในภายหลังการระบาด

อาจเป็นไปได้ว่าผลกระทบที่เกิดจากภาวะชะงักงันนี้ ยังไม่สามารถเห็นได้ชัดเจนในตอนนี้ และอาจใช้เวลาหลายปีเพื่อเข้าใจความเชื่อมโยง ยกตัวอย่างเช่น ความล่าช้าในการวินิจฉัยโรคมะเร็งที่เกิดจาการเลื่อนนัด อาจนำไปสู่อัตราการรอดชีวิตที่ลดลงอีก 5 ปีข้างหน้าก็เป็นได้

กรีน สรุปว่า เราต้องเรียนรู้จากโรคระบาด และทำความเข้าใจว่าวิธีการใดใช้จัดการโรคระบาดได้ดี หรือไม่ดีอย่างไร เพื่อช่วยให้เราเตรียมวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการโรคระบาดครั้งต่อไป 

เขายังเน้นย้ำความสำคัญของการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และหาแนวทางป้องกันการหยุดชะงักของบริการสุขภาพในภาวะวิกฤต 

พร้อมกันนี้ มีข้อเสนอให้ปรับปรุงระบบการรอคิว และเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์อย่างยั่งยืน เพื่อป้องกันความล่าช้าในการเข้ารับการวินิจฉัยและการรักษาโรคเมื่อเกิดภาวะวิกฤต นั่นหมายถึงการเพิ่มการลงทุนในระบบ NHS เพื่อสร้างความพร้อมในการรับมือโรคระบาดในอนาคต

อ่านบทความต้นฉบับ : https://theconversation.com/pandemic-healthcare-disruptions-led-to-more-preventable-hospital-admissions-new-research-209257