ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับโรงพยาบาลเลี่ยงสั่งจ่ายยากลุ่ม NSAIDs ในผู้ป่วยมีอาการไข้ ห่วงเพิ่มความเสี่ยงผู้ป่วยไข้เลือดออก เสียเลือดจนช็อกและเสียชีวิต ชี้การประกาศพื้นที่ระบาด เป็นการพิจารณาของแต่ละพื้นที่ หากเห็นว่าการระบาดมากจนทรัพยากรในพื้นที่ไม่เพียงพอ ต้องบูณาการการทำงาน หรือใช้งบประมาณพิเศษ


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2566 ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ขณะนี้มีผู้ป่วยมากกว่า 4 หมื่นคน เสียชีวิต 40 กว่าคน เป็นกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไปมากกว่าเด็กเล็ก โดยพบว่าผู้เสียชีวิตประมาณ 10% มีการกินยาแอสไพริน หรือยาลดไข้แก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSIADs) เช่น ไอบูโพรเฟน เป็นอาทิ ซึ่งทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงให้เลือดออกง่ายจนช็อกและเสียชีวิต

ดังนั้น หากมีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ปวดจุกแน่นในท้อง ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นของโรคไข้เลือดออก ที่วินิจฉัยแยกจากโรคอื่นที่ได้ยาก เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคฉี่หนู ขอให้ระมัดระวังไม่ซื้อยาเหล่านี้มารับประทาน ทั้งนี้ ได้กำชับโรงพยาบาลและบุคลากรแล้วว่าหากผู้ป่วยมีไข้และยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ให้หลีกเลี่ยงการจ่ายยากลุ่มเอ็นเสด และหากอาการยังไม่ดีขึ้นขอให้กลับไปพบแพทย์อีกครั้ง

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับการประกาศพื้นที่ระบาดโรคไข้เลือดออกหรือโรคอื่นใด หากพื้นที่เห็นว่าการระบาดมากจนทรัพยากรในจังหวัดหรือพื้นที่นั้นไม่เพียงพอรับสถานการณ์ เช่น ขาดงบประมาณ ขาดยา ขาดบุคลากร หรือจำเป็นต้องใช้งบประมาณพิเศษ หรือต้องมีการบูรณาการพิเศษ ก็ให้เสนอเรื่องถึงอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) พิจารณา โดยใช้กลไกคณะกรรมการวิชาการออกประกาศ

ทั้งนี้ สามารถประกาศระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือทั้งจังหวัดก็ได้ เพื่อให้มีอำนาจในการดำเนินการควบคุมโรคมากขึ้น รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถใช้งบประมาณ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ เนื่องจากโรคระบาดในคนถือเป็นสาธารณภัยรูปแบบหนึ่ง