ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ชัชชาติ” ร่วมพิธีลงนามสร้างความตระหนักรู้และป้องกันโรค ผนึกกำลังสร้างชุมชนปลอดภัยจากไข้เลือดออก ระบุ พบแหล่งน้ำนิ่งในชุมชนหลังน้ำท่วม เพิ่มโอกาสกิดไข้เลือดออก ชี้ ความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญช่วยให้ความรู้ประชาชนทั่วถึงขึ้น


นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามความร่วมมือสร้างความตระหนักรู้และการป้องกันโรคไข้เลือดออก ในประเทศไทยระหว่าง บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัดว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคใกล้ตัว ซึ่งตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ กทม. ประมาณ 3,500 ราย และมีผู้เสียชีวิต 3 ราย

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้ความรู้ในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะหลังน้ำท่วม จากการลงพื้นที่จะเห็นว่ามีแหล่งน้ำนิ่งอยู่มากตามชุมชน ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคไข้เลือดออกมากขึ้น

นายชัชชาติ กล่าวว่า ความร่วมมือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเรื่องสาธารณสุขใน กทม. เองก็มีหลายด้าน ทั้งเรื่องโควิด-19 ฯลฯ ฉะนั้นการมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือในด้านต่างๆ ก็จะทำให้การให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วถึงมากขึ้น เนื่องจากมีเครือข่ายที่จะเข้าถึงประชาชน รวมไปถึงมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่ง กทม. ก็ยินดีที่มีการร่วมมือกัน และต้องย้ำว่าโรคไข้เลือดออกยังไม่หมดไป

ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี ประธานบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก Dengue-Zero กล่าวว่า จากความร่วมมือที่เกิดขึ้น เบื้องต้นจะมองสถานการณ์โรคไข้ออก และมองต่อไปถึงช่องว่างที่จะสามมารถพัฒนาให้ดีขึ้น เช่น การทำให้ประชาชนมีความตระหนักรู้เรื่องโรคมากขึ้น

นอกจากนี้ ทาง กทม. เองก็มีอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ที่จะคอยเข้าไปดูแลกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านและชุมชนมากขึ้น พร้อมกับรายงานผลกลับมา หลังจากนั้นอาจจะมีเทคโนโลยีบางตัวที่ดูสายพันธุ์ลูกน้ำว่ามีสายพันธุ์ใดที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออกหรือไม่ หากพบว่ามีมากก็อาจจะทำนายได้ว่ามีการระบาด ต้องเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ให้มากขึ้น

ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดความร่วมมือแล้วคือการรายงานผู้ป่วยติดเชื้อให้เร็วขึ้น ซึ่งจะรายเข้าไปทั้ง กทม. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเอกชนเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อให้รู้พื้นที่ระบาดเร็วที่สุด และนำมาสู่การควบคุมให้เร็วขึ้นกว่าเดิม

นายปีเตอร์ สตรีบัล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงถึง 1.2 ล้านคนในประเทศไทย ซึ่งก็ได้สร้างภาระที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ครอบครัว และระบบสาธารณสุขเช่นกัน ฉะนั้นความร่วมมือที่เกิดขึ้นก็จะสามารถทำให้ป้องกันและควบคุมโรคได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันทาเคดาก็จะช่วยสนับสนุนการทำงานด้านการป้องกันโรคไขเลือดของ กทม. ที่สามารถต่อยอดไปสู่พื้นที่ภาคส่วนอื่นๆ ได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขอความร่วมมือในการสร้างความตระหนักรู้และการป้องกันโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย

นายยูจิ ชิมิซึ ประธานกรรมการ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า คาโอ ได้เริ่มโครงการ ‘Guard Our Future’ เพื่อชีวิตที่ปลอดภัยห่างไกลจากยุง ซึ่งทั้งคาโอ และทาเคดาได้ทำงานอย่างใกล้ชิด และร่วมมุ่งหน้าจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้เร่องโรคไข้เลือดออกในโรงเรียน โดยได้รับการสนับสนุนจาก กทม. โดยมีจุดประสงค์ร่วมกันคือปกป้องอนาคตเด็กจากภัยร้ายไข้เลือออก