ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมครม. นัดล่าสุด เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ทั้ง 3 มติ ‘แก้จน-ออกกำลังกาย-หลักประกันรายได้สูงวัย’ พร้อมกางรายละเอียดกรอบทิศทางการขับเคลื่อน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนไทย 


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2566 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2565 ทั้ง 3 มติ ประกอบด้วย 1. การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG : การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน 2. การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของประชาชน ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Model) และ 3. หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ  

พร้อมกันนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานหลักประสานดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับไปดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ได้เสนอ 

ทั้งนี้ สำหรับกรอบทิศทางนโยบายการขับเคลื่อนดำเนินงานมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ทั้ง 3 ประเด็น มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้ 

มติที่ 1 การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG : การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน มีกรอบทิศทางรวม 4 ด้าน ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลคนจนแบบแม่นยำและมุ่งเป้า ควบคู่ไปกับการหาสาเหตุความยากจน

2. การบูรณาการกลไกการทำงานการขจัดความยากจนในระดับพื้นที่ตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG จะมีการกำหนดให้ขับเคลื่อนการขจัดความยากจน ตามแนวคิด BCG Model เป็นระเบียบวาระแห่งชาติและระเบียบวาระการพัฒนาจังหวัด โดยให้ความสำคัญกับการส่งต่อประโยชน์สู่ชุมชน และขับเคลื่อนผ่านการผสานพลังภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน รวมไปถึงเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าภาพในการบูรณาการการแก้ไขปัญหาความยากจน พร้อมกับรายงานผลการดำเนินงานทุกไตรมาสต่อ ครม. 

3. การเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ พัฒนาทักษะอาชีพ สร้างผู้ประกอบการ BCG แก้จน และชุมชน BCG เพื่อให้เกิดการส่งเสริมสนับสนุน เข้าใจแนวคิด BCG Model บนฐานวัฒนธรรมและธรรมชาติ รวมถึงสนับสนุนให้บุคคลมีศักยภาพในการจัดการสุขภาพตนเอง พร้อมกับการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ความรู้ทางด้านการเงิน ความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและทักษะความเป็นผู้ประกอบการ และส่งเสริมผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเยาวชนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ 

4. การปรับโครงสร้างการบริหารและกลไกสนับสนุนเพื่อกระจายโอกาสสู่กลุ่มฐานราก เพื่อสนับสนุนกลไกขององค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรสาธารณะประโยชน์ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน และร่วมกันปรับปรุงแนวทางการจัดสรรงบประมาณเพื่อขจัดความยากจน ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และสร้างโอกาสสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวคิด BCG Model รวมไปถึงเร่งรัดการปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ที่เป็นอุปสรรคต่อการขจัดความไม่เป็นธรรม  

มติที่ 2 การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของประชาชน ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Model) มีกรอบทิศทางนโยบาย 4 ด้านเช่นกัน ได้แก่ 1. ส่งเสริมและผลักดันให้มีหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการในการสร้างมาตรฐานของข้อมูลการออกกำลังกายในแพลตฟอร์มที่จัดเก็บข้อมูลกลาง ให้สามารถนำข้อมูลสถิติดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการติดตามการประเมินผลและพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิด BCG Model 

2. สร้างและสนับสนุนพื้นที่รูปธรรมการขับเคลื่อนกิจกรรมการออกกำลังกายการเล่นกีฬาและกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัยภายใต้แนวคิด BCG Model ทั้งในระดับบุคคลและเชิงพื้นที่

3.  สนับสนุนการออกกำลังกาย การจัดแข่งขันกีฬา และการท่องเที่ยวเชิงกีฬาทั้งในกลุ่มเมืองหลักและเมืองรองที่เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยการให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ชุมชนและท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมและเกิดเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้ชุมชน

4. ส่งเสริม สนับสนุนให้สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ รวมถึงชุมชนท้องถิ่น ศึกษา วิจัย คิดค้นเพื่อสร้างนวัตกรรมในการพัฒนาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่จับต้องได้ 

มติที่ 3 หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ  มีกรอบทิศทางดำเนินการนโยบาย 2 ด้าน ได้แก่ 1. กำหนดให้การพัฒนาระบบหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ โดยมีกลไกบูรณาการระดับชาติเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินการเชื่อมโยงกลไกระดับพื้นที่ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาระบบดังกล่าวอย่างต่อเนื่องให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน โดยคำนึงถึงการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ 

2. ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันออกแบบ และขับเคลื่อนระบบหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ครอบคลุมทุกคนทุกกลุ่มอย่างเหมาะสมตามสภาพด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สังคมและสุขภาพที่หลากหลาย เช่น พัฒนาผลิตภาพประชากร การมีงานทำ และมีรายได้จากการทำงานที่เหมาะสมตลอดช่วงวัย มีเงินอุดหนุนที่เพียงพอต่อการดำรงชีพที่ผู้สูงอายุทุกคนควรได้รับและบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ อีกทั้งเพิ่มคุณภาพระบบบริการสุขภาพแบบปฐมภูมิให้มีบริการใกล้บ้านอย่างทั่วถึง รวมไปถึงมีการสนับสนุนให้มีระบบที่เอื้อให้สมาชิกครัวเรือนเกื้อกูล ดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรังหรือมีภาวะพึ่งพิงในบ้าน เช่น สิทธิการลางานเพื่อดูแลบุพการีที่ป่วยเรื้อรังและมีภาวะพึ่งพิงและสิทธิด้านการลดหย่อนภาษีที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น 

สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นแกนหลักในการประสานงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 จะครอบคลุมทั้งกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงการคลัง, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์