ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐาน คณะอนุกรรมการกำกับคุณภาพ และสปสช. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยบริการในพื้นที่ จ.ชลบุรีและ จ.ระยอง เพื่อรับฟังสรุปผลการดำเนินการให้บริการ ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาระบบบัตรทอง ตลอดจนการจัดบริการ ‘นวัตกรรมบริการ’ เพื่อช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล


เมื่อวันที่ 14-15 มิถุนายน 2566 คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และคณะอนุกรรมการกำกับคุณภาพมาตรฐาน สปสช. ตลอดจนผู้บริหาร สปสช. นำโดย ผศ.ดร.ทพ.สุธี สุขสุเดช ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน สปสช. ในฐานะที่ปรึกษาอนุกรรมการกำกับคุณภาพฯ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เดินทางลงพื้นที่ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี จ.ชลบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ กำกับติดตามคุณภาพและมาตรฐานหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

1

การลงพื้นที่ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมการมีส่วนร่วม สร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานบริการ เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมกำกับคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข การให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ เป็นไปอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน พร้อมกำกับติดตามการดำเนินการของนวัตกรรมบริการ (UC New normal) และการดำเนินงานของหน่วยบริการตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545

สำหรับนวัตกรรมบริการใหม่ที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการ (Independent Living: IL) คลินิกเทคนิคการแพทย์ด้าน HIV คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ หรือแม้แต่การจัดบริการผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) โดยโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งตัวแทนองค์กรหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละหัวข้อจะได้นำเสนอผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนข้อเสนอต่อ สปสช. เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2

นพ.จเด็จ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นหนึ่งในแผนงานของคณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุด เพราะการตรวจเยี่ยมหน่วยบริการในแต่ละพื้นที่นั้นจะทำให้ได้รับทราบปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานของหน่วยบริการ เสริมพลังร่วมขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานบริการ ได้รับทราบแนวทางการจัดการเรื่องร้องเรียน และนำความเห็นและข้อเสนอต่างๆ ไปขับเคลื่อนคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขต่อไป

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล ทำให้เกิด “นวัตกรรมการบริการ” ต่างๆ ประกอบกับช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีบริการใหม่ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริการการแพทย์ทางไกลที่เรียกว่า Telemedicine บริการที่ไปรับยาที่ร้านยาพร้อมปรึกษาการใช้ยาจากเภสัชกร บริการที่คลินิกการพยาบาลเข้าไปดูแลแผลผู้ป่วย บริการที่ใช้คลินิกกายภาพบำบัดในชุมชน ไปดูแลผู้ป่วยในบ้านที่บ้าน หรือบริการอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ตรงนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของการลดความแออัด ก็ช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล

2

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวว่า บริการที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นบริการเดิมที่แต่ละแห่งมีใน พ.ร.บ.ของแต่ละวิชาชีพ เพียงแต่ว่านำมาผูกกันกับบริการของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อจะให้ประชาชนได้เข้าถึงโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ ซึ่งการดำเนินงานโดยเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นจะเป็นการดำเนินงานจากบุคคลที่รู้จักพื้นที่ ทำให้ดูแลคนไข้ในพื้นที่ได้ดี  
 
รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ที่มากขึ้น เพื่อให้คนในพื้นที่ได้ทราบถึงบทบาทของคลินิกเอกชนในการให้บริการผู้ป่วยบัตรทอง เพราะผู้ป่วยอาจจะเข้าใจอยู่ว่าปกติเขาต้องไปที่โรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น พอมีโรงพยาบาลหรือว่ามีสถานบริการเอกชนขึ้นมา ผู้ป่วยอาจจะคิดว่าต้องไปเสียค่าบริการ จึงไม่เข้ามาใช้บริการ

2

“ขณะนี้ สปสช. มีนวัตกรรมการบริการที่มากมายซึ่งเข้าถึงประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการสาธารณสุข ทางด้านการส่งเสริมสุขภาพ และการดูแลโรคทั่วไป โดยมี สปสช.เข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยติดเตียง การฉีดวัคซีน การเจ็บป่วยเล็กน้อย ร้านยาใกล้บ้าน หรือ การรักษาผ่านมือถือด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) อีกด้วย” รศ.พญ.ประสบศรี ระบุ

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวอีกว่า อยากจะกระตุ้นสภาวิชาชีพ หรือผู้ที่เปิดคลินิกอยู่ให้มาร่วมกันดูแลประชาชนให้มากขึ้น ทางด้านส่วนกลางก็จะพยายามทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพสามารถสบายใจได้ว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างสบาย โดยไม่ต้องคิดค่าบริการผู้ป่วยอีกเลย และหวังว่าสิ่งนี้จะไปช่วยแก้ระบบที่มีบุคลากรทางการแพทย์ไหลออกจากระบบภาครัฐมากขึ้นในอนาคตต่อไป ซึ่งทางเขต 6 ก็เป็นเขตตัวอย่างที่ทำให้เกิดนวัตกรรมดี ๆ ได้หลายรูปแบบ

2

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวว่า การมาติดตามผลการดำเนินของหน่วยงานเอกชนอิสระที่ดำเนินการโดยคลินิกเอกชน เทคนิคการแพทย์ พยาบาล หรือกายภาพบำบัดในครั้งนี้ จะช่วยให้ประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทองสามารถเข้าถึงการบริการที่สะดวกขึ้นอยู่ในบริเวณพื้นที่จริง ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ  
 
ทั้งนี้คณะอนุกรรมการทั้ง 2 คณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการ อ.บ้านบึง และตรวจเยี่ยมคลินิกเทคนิคการแพทย์สวิงพัทยา จากนั้นเดินทางต่อไปยังแหลมบาลีฮายพัทยาใต้เพื่อเยี่ยมชมตู้แจกถุงยางอนามัยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ สปสช. พัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มการเข้าถึงถุงยางอนามัยให้กับผู้มีสิทธิบัตรทอง  และคลินิกหนองผักหนามการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา จังหวัดระยอง เพื่อเยี่ยมชมการให้บริการของคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้บริการการพยาบาลพื้นฐานทั่วไป เช่น การทำแผล การฝากครรภ์ในกรณีแพทย์วินิจฉัยแล้วไม่ใช่ครรภ์เสี่ยงการทดสอบการตั้งครรภ์ การตรวจหลังคลอด การดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน และการตรวจรักษาโรคเบื้องต้น เป็นต้น 
 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิก https://lin.ee/nwxfnHw